สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ใกล้มีผลบังคับใช้ หลังอินโดนีเซียรับรองสนธิสัญญาเป็นประเทศล่าสุด

ฝากข่าว โดย :

เวียนนา–6 ธ.ค.–พีอาร์นิวส์ไวร์ – เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์

ติบอร์ ทอธ (Tibor Toth) หัวหน้าคณะกรรมาธิการเตรียมการขององค์กรสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization: CTBTO) แสดงความยินดีที่สมาชิกรัฐสภาอินโดนีเซียช่วยให้สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBT) “เข้าใกล้ความเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ทั่วโลกไปอีกขั้นหนึ่ง”

“ผมยินดีที่รัฐสภาอินโดนีเซียมีมติรับรองสนธิสัญญาดังกล่าว” มร.ทอธ กล่าว “การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์นี้ทำให้เหลืออีกเพียง 8 ประเทศ สนธิสัญญานี้ก็จะมีผลบังคับใช้ทั่วโลก”

“เราพยายามเปลี่ยนเกมเพื่อกระตุ้นให้ประเทศอื่นที่อยู่ในสถานะเดียวกับอินโดนีเซียดำเนินรอยตามเราในการเริ่มกระบวนการรับรองสนธิสัญญาดังกล่าว” มาร์ตี นาทาเลกาวา (Marty Natalegawa) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวเมื่อเดือนกันยายน 2554 “เราเชื่อมั่นว่าสนธิสัญญา CTBT เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการปลดอาวุธนิวเคลียร์”

“แต่ละประเทศต้องกระตุ้นกันและกันให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปลดอาวุธนิวเคลียร์ เราสามารถสร้างแรงกระตุ้นและความเป็นไปได้ใหม่ๆในการสร้างโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์” เขากล่าว

เสียงสนับสนุนเป็นเอกฉันท์
“อินโดนีเซียจะใช้ความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศในการส่งเสริมสนธิสัญญานี้ในเอเชีย ตะวันออกกลาง และภูมิภาคอื่นๆ ผ่านความสัมพันธ์ทางการเมืองระดับสูงสุด” เฮมลี ฟอซี (Hemly Fauzy) ผู้ประสานงานด้านกระบวนการรับรองสนธิสัญญา CTBT ของรัฐสภาอินโดนีเซีย กล่าวระหว่างที่คณะผู้แทนจากรัฐสภาอินโดนีเซียเดินทางเยือนสำนักงานใหญ่ของ CTBTO ในกรุงเวียนนา

“เราต้องการให้ประเทศของเราเป็นผู้นำในการปลดอาวุธนิวเคลียร์และการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์” มร.ฟอซี กล่าว “เราจะให้ความร่วมมือเพิ่มเติมนอกเหนือจากการรับรองสนธิสัญญา CTBT” นอกจากนั้นเขายังกล่าวว่า สมาชิกรัฐสภาอินโดนีเซียจากทั้ง 9 พรรคมีมติเป็นเอกฉันท์สนับสนุนสนธิสัญญาดังกล่าว

การที่อินโดนีเซียรับรองสนธิสัญญาจะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อมีการนำเสนอเรื่องนี้ต่อองค์การสหประชาชาติ ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันมี 182 ประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญา โดย 156 ประเทศจากทั้งหมดรับรองสนธิสัญญาดังกล่าวด้วย

สนธิสัญญา CTBT จะมีผลบังคับใช้เมื่อ 44 ประเทศผู้ครอบครองเทคโนโลยีนิวเคลียร์ต้องลงนามและรับรองสนธิสัญญาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย และการที่อินโดนีเซียรับรองสนธิสัญญา ส่งผลให้มี 36 ประเทศแล้วที่รับรองสนธิสัญญานี้ สำหรับประเทศที่เหลืออีก 8 ประเทศประกอบด้วยจีน เกาหลีเหนือ อียิปต์ อินเดีย อิหร่าน อิสราเอล ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา

อินโดนีเซียสนับสนุนระบบเตือนภัยทั่วโลกของ CTBT
ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียน โดย 10 ชาติสมาชิกได้ทำสนธิสัญญากรุงเทพฯ ซึ่งจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก และทุกชาติสมาชิกอาเซียนยังได้ลงนามในสนธิสัญญา CTBT อย่างไรก็ดี บรูไน พม่า และประเทศไทย ยังต้องมอบสัตยาบันรับรองการเข้าร่วมสนธิสัญญาดังกล่าว เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านของอินโดนีเซียอย่างปาปัวนิวกินี ศรีลังกา และติมอร์เลสเต

นอกจากนั้น อินโดนีเซียยังมีสถานีตรวจจับแผ่นดินไหว 6 สถานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเตือนภัยทั่วโลกของ CTBT ที่ใช้ตรวจการสั่นไหวของผืนโลกซึ่งอาจเป็นหลักฐานว่ามีการระเบิดของนิวเคลียร์ ข้อมูลแผ่นดินไหวจากเครือข่ายสถานียังมีบทบาทสำคัญในการเตือนภัยสึนามิ ทั้งยังสามารถใช้ในงานอื่นๆด้านวิทยาศาสตร์และพลเรือนได้ ทั้งนี้ หลังเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 เครื่องตรวจนิวไคลด์รังสี (radionuclide) ของ CTBT ตรวจพบฝุ่นรังสีนิวเคลียร์ทั่วโลก [http://www.ctbto.org/verification-regime/the-11-march-japan-disaster]

ข้อมูลเกี่ยวกับ CTBT และกระบวนการตรวจพิสูจน์
CTBT ต่อต้านการระเบิดจากนิวเคลียร์ทุกรูปแบบ และเพื่อตรวจพิสูจน์ ทางองค์กร CTBTO กำลังพัฒนากระบวนการตรวจพิสูจน์ระดับโลก [http://www.ctbto.org/verification-regime] ซึ่งเมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจะมีสถานี 337 แห่ง [http://www.ctbto.org/map/#ims] ที่ดำเนินการตรวจความเปลี่ยนแปลงของผืนดิน ใต้ดิน มหาสมุทร และชั้นบรรยากาศ เพื่อค้นหาสัญญาณใดๆก็ตามที่บ่งชี้ว่ามีการระเบิดของนิวเคลียร์ ปัจจุบันสถานี 85% จากทั้งหมดส่งข้อมูลไปยังสำนักงานใหญ่ของ CTBTO ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยข้อมูลดังกล่าวจะผ่านการประมวลผลและวิเคราะห์ จากนั้นจะถูกส่งไปให้กับ 182 ชาติสมาชิก [http://www.ctbto.org/the-treaty/status-of-signature-and-ratification] ทั้งนี้ เมื่อสนธิสัญญามีผลบังคับใช้แล้ว จะมีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในกรณีที่ต้องสงสัยว่ามีการระเบิดของนิวเคลียร์ด้วย เพื่อให้กระบวนการตรวจพิสูจน์มีความสมบูรณ์ที่สุด

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CTBTO ได้ที่ http://www.ctbto.org ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ หรือติดต่อ:

โทมัส มูเอ็ตเซลเบิร์ก (Thomas Muetzelburg)
โทรศัพท์: +43-1-26030-6421
อีเมล: [email protected]
มือถือ: +43-699-1459-6421

เคิร์สเทน ฮอปท์ (Kirsten Haupt)
โทรศัพท์: +43-1-26030-6127
อีเมล: [email protected]
มือถือ: +43-699-1459-6127

ปีเตอร์ ริควูด (Peter Rickwood)
โทรศัพท์: +43-1-26030-6531
อีเมล: [email protected]
มือถือ: +43-699-1459-6541

ติดตามข่าวสารจาก CTBTO ได้ทาง:
เฟซบุ๊ก: [http://www.facebook.com/pages/The-Comprehensive-Nuclear-Test-Ban-Treaty-Organization/85643604046?ref=ts ]
ทวิตเตอร์: [http://twitter.com/ctbto_alerts ]
ฟลิกเกอร์: [http://www.flickr.com/photos/ctbto ]
ยูทูบ: [http://www.youtube.com/user/CTBTO ]

แหล่งข่าว: CTBTO

AsiaNet 47583

อินโฟเควสท์ เป็นสำนักข่าวออนไลน์ ด้านเศรษฐกิจและการเงิน ข่าวสารจากสื่อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย ผลิตและรายงานข่าวเศรษฐกิจ หุ้น การเงิน การลงทุน และข่าวต่างประเทศในรูปแบบเรียลไทม์ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุน