ผลการดำเนินงานตามมาตรการประหยัดพลังงานและส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม

ฝากข่าว โดย :

นายชัยวุฒิ  บรรณาวัฒน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการประหยัดพลังงานและส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 จากหน่วยงานภายใน อก. ที่แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 6 ด้านด้วยกันคือ  1) ด้านการปรับปรุงผลิตภาพการใช้พลังงาน  ๒) ด้านการส่งเสริมการลงทุน   ๓) ด้านการปรับโครงสร้างการผลิต  ๔) ด้านการกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์  มาตรฐานผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน   ๕) ด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในโรงงาน   และ ๖) ด้านการพัฒนาบุคลากรด้านพลังงาน

จากการติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการประหยัดพลังงานและส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ ผลการดำเนินงานทางตรงซึ่งสามารถวัดผลได้ในทันทีที่สิ้นสุดการดำเนินงาน    และผลการดำเนินงานทางอ้อม ซึ่งไม่สามารถวัดผลได้ทันทีในขณะที่สิ้นสุดการดำเนินงาน  แต่จะส่งผลดีในระยะยาวต่อไป   ผลการดำเนินงานดังกล่าวที่ผ่านมาของ อก. สรุปได้ ดังนี้

1.ผลการดำเนินงานทางตรง

1.1) การดำเนินงานด้านการปรับปรุงผลิตภาพการใช้พลังงาน  ได้แก่  โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพหม้อไอน้ำที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงสูงโดยการปรับแต่งหัวเผาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น (ปี 2548-2551) ประหยัดพลังงานได้ 8.5 ล้านบาท/ปี,   โครงการปรับเปลี่ยนเครื่องทำความเย็นในระบบปรับอากาศที่ใช้สาร CFC เป็นสารทำความเย็นซึ่งทดแทนด้วย non-CFC-Chiller (ปี 2548)  ประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 13.78  กิโลวัตต์ชั่วโมง/ปี, โครงการเทคโนโลยีสะอาดสำหรับอุตสาหกรรม (Cleaner  Technology)  (ปี 2553) ดำเนินการในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และกลุ่มโรงงานก๋วยเตี๋ยว  ประหยัดพลังงานได้รวม 2.8 ล้านบาท/ปี  ประหยัดวัตถุดิบได้ ๔.86 ล้านบาท/ปี, โครงการประหยัดพลังงานสำหรับโรงงานขนาดเล็ก (Energy Saving for Small  Enterprise : ES  for SE) (ปี 2553) ประหยัดพลังงานได้ ๒๗๗,๐๓๐ GJ /ปี หรือเท่ากับ ๖.๕๐ ktoe/ปี คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ ๔๐ ล้านบาท/ปี  และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ๑๒,๐๐๐ ตัน/ปี, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในสถานประกอบการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานในโรงงานแต่งแร่ (ปี 2553)  ประหยัดการใช้น้ำมันเตาในกระบวนการผลิตปูนพลาสเตอร์ได้ประมาณ ๑๖,๐๐๐ ลิตรต่อปี หรือประมาณ  ๓๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี   ลดการใช้พลังไฟฟ้าในกระบวนการบดแร่ลงมากกว่าร้อยละ  ๒0  หรือประมาณ ๕๑๐,๐๐๐ บาทต่อปี, โครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาด (CT) ในกลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐาน (ปี 2552)  มีสถานประกอบการนำแนวคิด CT ไปปฏิบัติสามารถลดการใช้พลังงานได้มากกว่า 80  ล้านบาท/ปี, โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค (ปี 2551-2553) ประหยัดพลังงานรวม 48.2 ล้านบาท/ปี

1.2) ด้านการปรับโครงสร้างการผลิต ได้แก่ โครงการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมและธุรกิจบริการภายใต้โครงการชุบชีวิตธุรกิจไทย (ปี 2548)  ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า 1,221.7 Kwh/ปี เป็นเงิน 3.19  ล้านบาท/ปี ลดการใช้น้ำมันเตา 816,900 ลิตร/ปี เป็นเงิน 8.47 ล้านบาท/ปี  ลดการเกิดของเสียได้ 0.58 ล้านบาท/ปี

1.3) ด้านการพัฒนาบุคลากรด้านพลังงาน  ได้แก่  โครงการให้คำแนะนำเทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงาน หรือ คลีนิคพลังงาน (ปี 2548-2551) ดำเนินงานจำนวน 600 โรงงาน  ประหยัดพลังงานได้ประมาณ 6 ล้านบาท/ปีและดำเนินงานในเชิงลึก 160 โรงงาน ประหยัดได้ 8 ล้านบาท/ปี, โครงการจัดการ พลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน  (Total  Energy  Management : TEM)  (ปี 2548-2553  : TEM 2-8) ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้รวม 983.28 ล้านบาท/ปี เฉพาะในปี 2553  สามารถลดปริมาณการใช้พลังงานคิดเป็น 380,625,000 MJ/ปี

2. ผลการดำเนินงานทางอ้อม จะเป็นการดำเนินการที่เสริมให้มีการลดการใช้พลังงานในอนาคต  เช่น การส่งเสริมการลงทุนในกิจการการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน  การผลิตพลังงานทดแทน (เอทานอล  เซลล์แสงอาทิตย์ และเชื้อเพลิงชีวภาพ) และการบริการจัดการพลังงาน (Energy Service  Company : ESCO)  เป็นต้น, เร่งรัดการกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์  มาตรฐานผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงานให้เป็นมาตรฐานบังคับมากประเภทขึ้น, โครงการฝึกอบรมบุคลากรด้านพลังงานให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์พลังงานเพื่อเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำในโรงงานต่อไป  ฯลฯ

ในการติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการประหยัดพลังงานและส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547  ที่ อก.ได้เริ่มในปี 2548 จนถึงปัจจุบันนั้น  มีผลการดำเนินงานที่สามารถทำให้เกิดการประหยัดพลังงานในรูปแบบของการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้เป็นมูลค่าจำนวนมากในแต่ละปีหรือสามารถลดปริมาณการใช้พลังงานได้ในปริมาณมาก   และจากกระแสการให้ความสำคัญต่อการรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นๆ ในปัจจุบัน   การติดตามผลการดำเนินงานฯของอก.ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไปจะให้ความสำคัญต่อการรายงานผลความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนในขณะเดียวกันด้วยเพื่อยืนยันให้เห็นว่าผลจากการดำเนินงานตามมาตรการประหยัดพลังงานและส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมของ อก. นั้นไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดการประหยัดและเกิดประสิทธิภาพในการใช้พลังงานแล้วยังจะเป็นส่วนหนึ่งจากหลายภาคส่วนที่ได้มีความร่วมมือกันในการรักษาสภาวะแวดล้อมของโลกให้ดีขึ้นเพื่อเราจะได้ส่งต่อโลกที่สวยงามให้เป็นสมบัติสืบทอดให้กับลูกหลานของเราในอนาคต