ในทางการแพทย์ เลือกเพศลูกทำได้จริงหรือ

FLASH SALE
ฝากข่าว โดย :

ปกติมนุษย์ มีโครโมโซมทั้งหมด 23 คู่ 46 แท่ง มีโครโมโซมร่างกาย 22 คู่ และ โครโมโซมเพศ 1 คู่ ในเวลาที่มีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์

จำนวนโครโมโซมจะลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 23 แท่ง เซลล์สืบพันธุ์พ่อ และแม่จะมารวมกัน
เมื่อเกิดการปฏิสนธิ (ทารกจึงเป็นผลรวมทางพันธุกรรม ของพ่อและแม่อย่างละครึ่ง)  ในเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง สร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้ชนิดเดียว คือ 23,X ส่วนเซลล์สืบพันธุ์เพศชายสามารถสร้างได้ 2 แบบ คือ 23,X และ 23,Y ดังนั้นเพศของทารกนั้นถูกกำหนดโดยโครโมโซม X และ Y ที่บรรจุอยู่ในตัวอสุจิ ซึ่งอัตราส่วนของอสุจิที่มีโครโมโซม X ต่อ อสุจิที่มีโครโมโซม Y ประมาณ 50/50 เมื่อมีการปฏิสนธิเกิดขึ้นจะมีอสุจิเพียงหนึ่งตัวที่เจาะเข้าไปในเซลล์ไข่ได้ ดังนั้นอสุจิที่มีโครโมโซมเพศใดเจาะเข้าไปในไข่ทารกก็จะเป็นเพศนั้น  ดังนั้นโอกาสที่จะได้ลูกชายหรือลูกสาว ตามธรรมชาติประมาณ 50%

การกำหนดเพศว่าเพศหญิงหรือเพศชาย

         ในทางการแพทย์ การกำหนดเพศว่าเพศหญิงหรือเพศชาย มีวิธีการแยกโดยใช้โครโมโซมเพศ  คือ เพศหญิง มีโครโมโซมเพศเป็น XX และเพศชายมีโครโมโซมเพศเป็น XY ในอดีตปัญหาความต้องการในการเลือกเพศบุตรไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะในหนึ่งครอบครัวมักจะมีลูกกันหลายคน ซึ่งมักต้องมีทั้งเพศหญิงและชายปะปนกันไป แต่ในปัจจุบัน แต่ละครอบครัวมักวางแผนการมีบุตรเพียง 1-2 คน เท่านั้น ความอยากได้เพศที่แตกต่าง จึงเป็นที่มาของความพยายามในการคัดเลือกเพศบุตร
          ประโยชน์ของการเลือกเพศบุตร นอกจากจะได้บุตรมีเพศตามที่ต้องการแล้ว ยังเป็นการช่วยจำกัดจำนวนประชาการในครัวเรือน เพราะไม่ต้องรอจนกว่าจะได้เพศบุตรที่ต้องการ ซึ่งบางทีจะต้องรอคอยถึงหลายท้อง ดังนั้นวิธีเลือกเพศบุตรจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิธีวางแผนครอบครัว

การพยายามคัดเลือกเพศบุตรมีมาเนิ่นนานแล้ว  เริ่มตั้งแต่สมัยโรมัน ซึ่งเชื่อกันว่าการดื่มเลือดสิงโตเป็นประจำทุกวัน จะทำให้ได้บุตรชาย ส่วนคนตะวันตกพูดต่อๆ กันมานานแล้วว่า ถ้าอยากได้ลูกชายก็ต้องดื่มโค้ก-เป็ปซี่ แต่ถ้าอยากได้ลูกสาว ต้องรับประทานช็อกโกแลตให้มากๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเลือกเพศบุตรเป็นเรื่องที่แฝงเร้นมาทุกยุคทุกสมัยเลยก็ว่าได้ แม้กระทั่งในปัจจุบัน อาหารบางชนิดมีส่วนในการกำหนดเพศบุตร

          จากการศึกษาของ Dr. Stoloski ถ้าต้องการบุตรชาย ให้รับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมและโซเดียมเยอะๆ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ถั่ว ไส้กรอก มะเขือเทศ หรือถ้าต้องการบุตรสาว ให้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีมากๆ ได้แก่ นม เนย ไอศกรีม ช็อกโกแลต ไข่ ผักใบเขียว เป็นต้น
          ลักษณะการมีเพศสัมพันธ์ โดยอาศัยธรรมชาติที่ว่า สเปิร์ม Y ตัวเล็ก หางยาวว่ายได้เร็ว แต่อ่อนแอ ทนต่อภาวะกรดได้ไม่ดี ในขณะที่สเปิร์ม X ที่มีขนาดใหญ่กว่า หางสั้นจึงว่ายได้ช้ากว่า แต่แข็งแรงทนต่อกรดได้ดีกว่า มีการศึกษาของ Dr. Shettles ที่ให้ความเห็นว่า การมีเพศสัมพันธ์อาจมีผลต่อเพศทารกในครรภ์ เช่น วันที่มีเพศสัมพันธ์ ยิ่งใกล้วันที่มีการตกไข่มากเท่าใด โอกาสที่ได้ลูกชายสูง เพราะสเปิร์ม Y ที่เร็วกว่าจะเข้าเจาะไข่ได้ก่อน ยิ่งในช่องคลอดมีภาวะเป็นกรดมากเท่าใด โอกาสที่จะได้ลูกสาวก็มีสูงขึ้น เพราะสเปิร์ม Y อ่อนแอกตายง่าย
          ท่าทางและความลึกของการมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย เนื่องจากยิ่งใกล้ปากช่องคลอดยิ่งมีภาวะเป็นกรด ดังนั้นการมีเพศสัมพันธุ์แบบตื้นๆ มีโอกาสจะได้บุตรเพศหญิง แต่ถ้าสอดใส่ลึกๆ  มีโอกาสได้บุตรชายสูง การมีเพศสัมพันธ์ที่มีการถึงจุดสุดยอดของฝ่ายหญิงจะมีการหลั่งสารที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง จึงมีโอกาสได้บุตรชายสูง การที่มีจำนวนอสุจิปริมาณมากในการหลั่งแต่ละครั้งมีโอกาสได้บุตรชาย ดังนั้นไม่ควรมีการหลั่งอสุจิ ในช่วง 3-4 วันก่อนวันที่ไข่ตก เพื่อให้มีการสะสมอสุจิ แต่ถ้าต้องการเพศหญิงให้มีเพศสัมพันธ์ทุกวันก่อนวันตกไข่
          นอกจากนี้การใส่กางเกงในแบบหลวมๆ ของคุณผู้ชาย จะทำให้อุณหภูมิบริเวณอัณฑะต่ำหรือเย็นสบายเหมาะต่อการอยู่อาศัยของสเปิร์ม Y ทำให้โอกาสได้บุตรชายสูง ในทางกลับกันถ้าต้องการเพศหญิงแนะนำให้อาบหรือแช่น้ำอุ่น ทำให้สเปิร์ม X ได้เปรียบ ซึ่งวิธีเหล่านี้ยังไม่มีการวิจัยมาตราฐานที่รับรองผลที่ได้ แต่เป็นเพียงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งโอกาสประสบความสำเร็จจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญบอกว่าได้ผล 70-80% แต่ในการปฏิบัติจริง อาจไม่แตกต่างจากการโยนเหรียญหัวก้อยเท่าไหร่นัก
ดังนั้นวิธีที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันในการคัดเลือกเพศบุตร และมีหลักฐานการวิจัยรองรับคือ
1. การคัดแยกเชื้ออสุจิที่มีโครโมโซม X หรือ Y  ออกจากกันโดยการคัดแยกในห้องปฎิบัติการ วิธีนี้ต้องอาศัยเทคนิคการคัดแยกอสุจิในห้องปฏิบัติการ และทำการฉีดอสุจิเพศที่ต้องการ กลับเข้าโพรงมดลูก ( IUI : intrauterine insemination)  ซึ่งโอกาสประสบความสำเร็จถึงร้อยละ 70-80% (ขึ้นกับชนิดของการคัดแยก) ปัจจุบันการคัดแยกมี 2 วิธีหลักๆ คือ
          1.1 Ericson’s Technique วิธีนี้ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก เป็นวิธีที่นิยมใช้ในประเทศไทย
ความแม่นยำในการเลือกเพศชายได้ตรงตามความต้องการ 71%
ความแม่นยำในการเลือกเพศหญิงได้ตรงตามความต้องการ 75%
          1.2 MicroSort Technique วิธีนี้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง มีสถานที่ให้บริการน้อย
ความแม่นยำในการเลือกเพศชาย (YSort) ได้ตรงตามความต้องการ 76%
ความแม่นยำในการเลือกเพศหญิง (XSort) ได้ตรงตามความต้องการ 91%
ขั้นตอนการรักษาประกอบด้วย
               1. การกินยาหรือฉีดยากระตุ้นไข่ และทำการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของไข่ และการตกไข่ด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์
               2. เมื่อถึงวันไข่ตก ให้ฝ่ายชายทำการเก็บน้ำอสุจิ หลังจากนั้นจะทำการคัดแยกอสุจิทางห้องปฏิบัติการ และทำการฉีดน้ำเชื้อที่คัดแยกแล้วเข้าสู่โพรงมดลูก (IUI)
2. การคัดเลือกหลังมีการปฏิสนธิแล้ว วิธีนี้คือ การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ โดยการผสมตัวอ่อนในหลอดแก้ว หรือการทำเด็กหลอดแก้ว( IVF : In vitro fertilization) แล้วเมื่อถึงระยะตัวอ่อน 8 เซลล์ จะทำการดึงเซลล์จากตัวอ่อนที่เลี้ยงในห้องปฎิบัติการมาตรวจลักษณะพันธุกรรมก่อน ( PGD: Preimplantation Genetic Diagnosis) เช่น โครโมโซม และ เพศ แล้วจึงนำไข่ที่ปฏิสนธิเพศที่ต้องการ ใส่กลับเข้าไป ในโพรงมดลูก วิธีนี้สามารถตรวจโรคของโครโมโซม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome) หรือ โรคทางพันธุกรรมบางโรค เช่น ฮีโมฟิเลีย ทาลัสซีเมีย ก่อนใส่กลับเข้าไปได้ แต่มีราคาแพง และขั้นตอนต่างๆในการทำค่อนข้างมาก ซึ่งวิธีนี้โอกาสประสบความสำเร็จในการเลือกเพศถึงเกือบ 100%
ขั้นตอนการรักษาประกอบด้วย
          1. การฉีดยากระตุ้นไข่ ระหว่างนี้จะได้รับการตรวจเลือดเพื่อดูระดับของฮอร์โมนและทำการตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของไข่ หลังจากนั้นเมื่อไข่โตสมบูรณ์จะทำการเจาะดูดไข่ออกมาเพื่อทำการผสมภายนอกร่างกาย และทำการเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะ 3 วัน
          2. ตัวอ่อนระยะ 3 วัน ซึ่งมีจำนวนประมาณ 6-8 เซลล์ได้รับการตรวจโครโมโซมเพศด้วยวิธีการ PGD และทำการย้ายตัวอ่อนที่ปกติและมีโครโมโซมเพศที่ต้องการกลับเข้าไปในโพรงมดลูกในวันถัดมา
          สุดท้ายนี้สิ่งที่สำคัญกว่าการ เลือกเพศลูกว่าเป็นชายหรือหญิงก็คือ การเลี้ยงและดูแลบุตรให้เป็นไปในเพศที่เด็กติดตัวมาแต่เกิด ดังนั้นสำคัญกว่าสิ่งใด คือการเอาใจใส่ ส่งเสริมให้เขาเจริญเติบโตไปตามเพศที่ควรจะป็นมากกว่า มานั่งหวังว่า ลูกเป็นเพศอะไร เท่านั้น

โดย นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข