คณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (Thailand Underground and Tunnelling Group หรือ TUTG) ภายใต้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 ( World Tunnel Congress)18-23 พ.ค. 2555 จัดแถลงข่าว การต่อยอดระบบอุโมงค์ใต้ดินป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน MUSTS (Multi-Service Underground Tunnel System) มูลค่าลงทุน 2 แสนล้านบาทเพื่อรองรับสภาวะภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ( Climate Change ) และการบริหารจัดการหมุนเวียนน้ำโดยใช้น้ำอุทกภัยให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นครัวของโลก และเป็นศูนย์กลางของธุรกิจอุตสาหกรรมหลายประเภทในภูมิภาคอาเซียนและโลก
ดร.อภิชาติ สระมูล คณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ กล่าวว่า “เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ทาง TUTG ได้เคยนำเสนอแนวคิด ระบบอุโมงค์ใต้ดินป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน MUSTS (Multi-Service Underground Tunnel System) มูลค่าลงทุน 2 แสนล้านบาท ซึ่งวางตัวอยู่ใต้แนวถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ลึกลงไป 10 เมตร ตัดยอดอุทกภัยน้ำหลาก จากบางปะอิน จ.อยุธยา –บางนา – ลงสู่ทะเลที่จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 100 กม. ซึ่งให้ประโยชน์ 3 in 1 ได้แก่ 1.ชั้นบนเป็นถนนใต้ดิน ขนาด 6 เลน รองรับการระบายความหนาแน่นของการจราจร 2.โครงสร้างชั้นล่างเป็นทางระบายน้ำหลากใต้ดินที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องผ่านชุมชนและไม่ต้องเสียเวลาและงบประมาณเวนคืนที่ดิน สามารถรองรับน้ำได้ 100,000 ลูกบาศ์กเมตร/ กม. ส่วนในกรณีน้ำท่วมใหญ่จะปิดถนนชั้นบนให้กลายเป็นทางระบายน้ำท่วมเพียงอย่างเดียวจะสามารถรองรับน้ำได้เป็น 2 เท่า และประโยชน์ที่ 3.สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ ขนาด 400 – 600 เมกะวัตต์ แล้วแต่ขนาดโครงการที่ต้องการ โดยการสร้างเสริมอุโมงค์แนวดิ่ง (Power Generation Shaft) ในช่วงท้าย ได้ด้วยนั้น
เพื่อให้การจัดการน้ำเป็นองค์รวม และ เหมาะกับสภาวะเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ( Climate Change) ในปัจจุบันที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่หนึ่ง แต่อีกหลายพื้นที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ห่วงโซ่ผลิตอาหาร การเกษตรและปศุสัตว์และธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง คณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) จึงได้นำมาพัฒนาเป็น MUSTS 4 in 1 โดยต่อยอดการใช้งานเพิ่มอีกหนึ่ง เป็นประโยชน์ที่ 4 กล่าวคือ ผันน้ำอุทกภัยผ่านอุโมงค์ไปยังพื้นที่แล้ง โดยเก็บในอ่างเก็บน้ำใต้ดิน (Reservoir) หรือแก้มลิง บำบัดและส่งจ่ายน้ำผ่านเครือข่ายอุโมงค์ย่อยไปยังพื้นที่ประสบภัยแล้งเพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตรและอื่นๆได้ โดยเราถือเอาน้ำจากอุทกภัยเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำทั้งหมดที่จะใช้ประโยชน์หมุนเวียนได้ แทนการทิ้งเปล่าลงสู่ทะเล
ดร.ชเนศวร์ แสงอารยะกุล รองประธานคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ กล่าวว่า “มูลค่าของโครงการ MUSTS ประมาณ 200,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายที่ผ่านมา 1.4 ล้านล้านบาท นับว่าคุ้มค่า และใช้เวลาก่อสร้างเสร็จได้เร็วเฟสแรกภายใน 2 ปี นับเป็นการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาและรองรับความต้องการในอนาคตอย่างคุ้มค่า MUSTS 4 in 1 เป็นตัวอย่างหนึ่งของการบูรณาการระบบน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยในยุคปัจจุบัน เนื่องจากการสร้างเสริมความมั่นคงทางน้ำ (Water Security) จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ด้วย หากไม่บูรณาการน้ำทั้งระบบ เมื่อเกิดภัยแล้ง จะทำให้ผลิตผลทางการเกษตรลดลง อาหารบางอย่างต้องขาดแคลน ประชาชนต้องซื้ออาหารแพงขึ้น ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องใช้วัตถุดิบต้องประสบปัญหาการผลิตสะดุดลง อีกทั้งกระทบต่อชาวโลกที่เราจะส่งออกอาหารและวัตถุดิบในฐานะที่ประเทศไทยเป็นครัวของโลกด้วย
หรือตัวอย่างที่เราได้พบปัญหาจากมหาวิกฤติอุทกภัย น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม ทำให้อะไหล่ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ทั่วโลกขาดแคลน ซัพพลายเชนไอทีในหลายประเทศชะงักงัน อุปกรณ์บางชนิดมีราคาแพงขึ้นจนถึงทุกวันนี้ เป็นต้น “
นายซอว์ ซอว์ เอย์ เลขาธิการ คณะกรรมการงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 กล่าวว่า “ ในระหว่างวันที่ 18-23 พ.ค.2555 ที่ประเทศไทยโดยคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG ) จะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 ( World Tunnel Congress) จะมีการถกประเด็นที่น่าสนใจ ในช่วงเปิดประชุม (Open Session) หัวข้อ การเตรียมเมืองอย่างไรให้ยั่งยืนและฟื้นตัวเร็วจากภัยพิบัติ (Planning Better and Resilient Cities) ด้วยนวัตกรรมเชิงบูรณาการ และการใช้พื้นที่ใต้ดินและอุโมงค์ ทั้งนี้โดยสอดคล้องกับแคมเปญสหประชาชาติที่รณรงค์เมืองใหญ่ทั่วโลกร่วมกันวางแผนเตรียมความพร้อมปรับตัวให้เมืองยั่งยืนและฟื้นตัวเร็วจากภัยพิบัติธรรมชาติ (Making Cities Resilient Campaign)
—————————-
PR AGENCY : บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ( BrainAsia Communication)
Tel. : 081-899-3599, 02-911-3282
Email : brainasiapr@hotmail.com