ที่เที่ยวในไทย
มูลนิธิ Green Destinations ได้จัดอันดับที่เที่ยวของไทย ติดอันดับ 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก โดยมี 6 แหล่งท่องเที่ยวที่เสนอโดย อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) ที่เป็นไปเข้าเกณฑ์มาตรฐานสากล GSTC (Global Sustainable Tourism Council) ซึ่งที่เที่ยวในไทยที่ติดท็อป 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก 2024 (Green Destinations Top 100 Stories) มีดังนี้
เชียงคาน
เชียงคาน จ.เลย เป็นที่รู้จักกันในฐานะที่เป็นเมืองท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม และความสงบของวิถีชีวิตผู้ที่อาศัยในท้องถิ่น ความงดงามของทัศนียภาพที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง มีเกสเฮาส์หลายแห่งให้บริการ มีถนนคนเดินให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวอีกด้วย
เวียงภูเพียงแช่แห้ง
เวียงภูเพียงแช่แห้งหรือชุมชนโบราณวัดพระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่บริเวณบ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ลักษณะเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มุมมน ขนาดยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร กว้าง ๓๕๐ เมตร คูน้ำคันดินที่เป็นคูเมืองและกำแพงเมือง
เมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเมืองโบราณที่มีความสำาคัญที่สุดแห่งหนึ่งในการศึกษาโบราณคดีสมัยทวารวดี ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 (ประมาณ 1,450-1,000 ปีมาแล้ว) นักวิชาการในอดีตต่างสันนิษฐานว่า บริเวณเมืองอู่ทองมีมนุษย์อยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนเติบโตเป็นเมืองท่าค้าขายในยุคหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์
เมืองเก่าสงขลา
ชุมชนเมืองเก่าสงขลา เป็นพื้นที่เก่าแก่ที่มีอายุกว่า 200 ปี ภายในชุมชนมีสิ่งก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ที่มีหลากหลายรูปแบบของสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ทั้งรูปแบบอาคารตึกแถวแบบจีน แบบไทยและแบบตะวันตกปะปนสองข้างถนนภายในชุมชน จุดนี้แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของหลากหลายวัฒนธรรมภายในเมืองเก่าสงขลา
หัวหิน
หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีชื่อเสียงจากการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตากอากาศที่สามารถเที่ยวได้ใน 1 วัน และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครเพียง 196 กิโลเมตร หากใช้เส้นทางถนนพระรามที่ 2 ใช้เวลาประมาณ 2.5-3 ชั่วโมงหากโดยสารทางรถ หรือ 45 นาทีหากเดินทางโดยเครื่องบิน
เมืองเก่าอุทัยธานี
เมืองเก่าอุทัยธานี เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม ตลอดจนภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชุมชนที่ก่อตัวขึ้นจากความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำสะแกกรัง ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานและสร้างบ้านแปงเมืองจนเจริญรุ่งเรือง ในฐานะเมืองริมแม่น้ำ ทว่าเมื่อมีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาทำให้การขนส่งทางน้ำมายังเมืองอุทัยธานี และเมืองอื่น ๆ ในพื้นที่ภาคกลางตอนบนซบเซาลง ประกอบกับมีการตัดถนนขึ้นสู่ภาคเหนือในภายหลัง ซึ่งไม่ผ่านเมืองอุทัยธานีโดยตรง จึงทำให้เมืองอุทัยธานีซบเซาลงมากขึ้น อย่างไรก็ดี การสูญเสียโอกาสที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในสามทศวรรษที่ผ่านมานั้น กลับทำให้เมืองอุทัยธานีในวันนี้ ยังคงสามารถรักษาบรรยากาศของเมืองเก่า และยังดำรงวิถีชีวิตชุมชนฐานน้ำที่มีการอยู่อาศัยในเรือนแพแห่งสุดท้ายของไทยไว้ได้อย่างทรงคุณค่า