หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จุดประกายวิถีชุมชนก้าวสู่ Thailand 4.0

FLASH PRESS
ฝากข่าว โดย :

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน หลักการนี้พระองค์ทรงตรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” หมายความว่า ต้องมุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คนและครอบครัวในชุมชนที่เข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนและหมู่บ้าน ซึ่งหลายชุมชนยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว จึงไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่ความล่มสลายได้

Thailand 4.0

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสดังกล่าวมาเป็นหัวใจในการสร้างฐานรากชุมชนให้แข็งแกร่งจากข้างในเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ภายใต้กรอบการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ โดยมีธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นเรือธงนำหน้า ด้วยการจัดกิจกรรมการพัฒนา “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” (Creative Industry Village : CIV) หรือ “หมู่บ้าน CIV” ภายใต้โครงการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม เพื่อให้หมู่บ้าน CIV เป็นหมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิต มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ของสินค้าที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้เกิดมูลค่าใหม่ทางเศรษฐกิจบนแนวคิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

หมู่บ้าน CIV

โดยคัดเลือก 9 ชุมชน 9 จังหวัดนำร่องพัฒนาเป็น “หมู่บ้าน CIV” ดังนี้ 1) ชุมชนออนใต้ ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ 2) ชุมชนน้ำเกี๋ยน ต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน 3) ชุมชนบ้านนาต้นจั่น ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย 4) ชุมชนเกาะเกร็ด ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ดจ.นนทบุรี 5) ชุมชนบ้านศาลาดิน ต.มหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 6) ชุมชนปากน้ำ ประแส ต.ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง 7) ชุมชนบ้านเชียง ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี 8) ชุมชนบ้านนาตีน ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ และ 9) ชุมชนเกาะยอ ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา และจะขยายเพิ่มเติมให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย

เราได้มีโอกาสเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนชุมชน ภายในงานนิทรรศการ “หมู่บ้านอุตสาหกรรสร้างสรรค์” ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีการจำลองรูปแบบและเสน่ห์ของการท่องเที่ยวในแบบวิถีชุมชนภายใต้แนวคิด“ไทย…เที่ยว…เท่…” สัมผัสเสน่ห์วิถีชุมชนหลากหลาย ด้วยการรวมทรัพยากรของแต่ละชุมชน ทั้งวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ไว้ด้วยกันให้เป็นอัตลักษณ์เพื่อเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว

เริ่มจาก “ปรีชา ดีสม” ผู้ใหญ่บ้าน บ้านใหม่พัฒนา ต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน เล่าถึงชีววิถีที่น้ำเกี๋ยน ให้ฟังว่า บ้านน้ำเกี๋ยนเป็นชุมชนชนบทที่อยู่กันแบบเครือญาติ คนในชุมชนเน้นการปลูกพืชสมุนไพร นำสมุนไพรมาเป็นจุดขายและนำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แชมพูใบหมี่ ซึ่งปัจจุบันเป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว ทำต่อเนื่องมาปีนี้เป็นปีที่ 10 แล้ว สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนแล้วประมาณ 20 ล้านบาท แหล่งท่องเที่ยวของบ้านน้ำเกี๋ยนคือ วิสาหกิจชุมชนชีววิถีซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและจังหวัด คนที่เข้ามาก็จะมาศึกษาดูงาน เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิต กระบวนการจัดการวิสาหกิจชุมชน รวมถึงศึกษาเรื่องสมุนไพร มีแปลงสมุนไพรให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้การทำสมุนไพรต่างๆ ในศูนย์ชีววิถี เช่น ลูกประคบ ยาหม่อง สเปรย์ไล่ยุงตะไคร้หอม
“หลักการของหมู่บ้าน CIV เข้ามาช่วยในเรื่องของการสร้างแบรนด์ การทำสินค้าที่มีความแปลกใหม่ซึ่งเป็นสินค้าร่วมสมัย ดั้งเดิมเราทำแชมพู สบู่ สมุนไพร ลูกประคบ พอ CIV เข้ามาก็ช่วยต่อยอดพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า ซึ่งผลตอบรับจากชุมชนก็ดีมาก ซึ่งเป็นการต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน จำนวนนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้น โดยบ้านน้ำเกี๋ยนยังคงอัตลักษณ์การเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน โดยส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาศึกษาดูงาน เนื่องจากบ้านน้ำเกี๋ยนเป็นอาณาจักรสมุนไพร เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และได้รับรางวัลมากมาย ล่าสุดคือ รางวัลบ้านสวยเมืองสุข ซึ่งเป็นรางวัลชนะเลิศในระดับภาคเหนือ”

ต่อกันที่ “เสงี่ยม แสวงลาภ” ประธาน CIV ชุมชนบ้านนาต้นจั่น ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เล่าอย่างภาคภูมิใจว่า บ้านนาต้นจั่นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน อาชีพเสริมคือ ทอผ้า กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ตอไม้ มีกลุ่มโฮมสเตย์ ที่โดดเด่นที่สุดคือ ผ้าฝ้ายหมักโคลน และอาหารพื้นถิ่นขึ้นชื่อก็คือ “ข้าวเปิ๊บ” หรือ “ก๋วยเตี๋ยวพระร่วง” ส่วนเส้นทางท่องเที่ยวก็มีปั่นจักรยานชมทุ่งพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตก ปั่นจักรยาน กินผลไม้ตามฤดูกาล มีจุดชมวิวดูทะเลหมอก ดื่มกาแฟในกระบอกไม้ไผ่ กินอาหารในกระบอกไม้ไผ่ ทอผ้าใต้ถุนบ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการทำผ้าหมักโคลน ทำของเล่นไทยโบราณอย่างตุ๊กตาบาร์โหน ลงมือทำข้าวเปิ๊บ ชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและผักปลอดสารพิษ
“ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนมีความหลากหลายมากขึ้น มีการนำผ้าหมักโคลนมาตัดเย็บเป็นกระเป๋า ทำเป็นของระลึกต่างๆ จากการที่โครงการ CIV เข้ามาเพิ่มศักยภาพและต่อยอดให้กับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการดึงเยาวชนให้อยู่กับชุมชน ฝึกให้เยาวชนของชุมชนเป็นไกด์ เป็นผู้สื่อความหมายท้องถิ่นให้กับนักท่องเที่ยว จึงอยากจะเชิญชวนให้ทุกท่านได้มาเที่ยวแนววิถีชุมชนกับกิจกรรมหลากหลาย ได้สัมผัสและเรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้านของบ้านนาต้นจั่นซึ่งมีสโลแกนประจำชุมชนว่า เกษตรพื้นบ้าน สืบสานวัฒนธรรม ล้ำค่าภูมิปัญญา”

แวะเวียนมาที่แหล่งอารยธรรมบ้านเชียง ร้อยเรียงล้ำค่า ภูมิปัญญาไทพวน กับ “ชุมพร สุทธิบุญ” ประธาน CIV ชุมชนบ้านเชียง ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ที่ได้เล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจว่า บ้านเชียงเป็นแหล่งมรดกโลกอันดับที่ 4 ของประเทศไทย และเป็นจุดท่องเที่ยวที่โดดเด่นในเรื่องโฮมสเตย์ วิถีชีวิตของคนที่นี่เป็นชาติพันธุ์ไทพวนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษทั้งในเรื่องของการแต่งกาย อาหาร และภาษาพูด ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่เราอยู่ในแหล่งมรดกโลกซึ่งขุดค้นพบวัตถุโบราณก่อนประวัตศาสตร์คือ 5,600 ปี และได้นำวัฒนธรรมจากโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบมาต่อยอด เช่น การเขียนไหลายที่ได้มีการหยิบยกมาทำเป็นของฝากของที่ระลึก และเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ถ้วยกาแฟ จาน
“ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนบ้านเชียงล้วนมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน พูดได้เลยว่าบ้านเชียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นจุดขายซึ่งได้นำเอาภูมิปัญญามาทำให้ชุมชนได้อยู่ดีมีสุข ซึ่งพอ CIV มาก็เข้าไปขุดคุ้ยนำเอาภูมิปัญญาซึ่งสอดคล้องกับความเป็นอยู่ออกมาใช้ประโยชน์ พูดง่ายๆ ก็คือ สรรหาเอาตัวจริงและเสียงจริงของชุมชนเพื่อนำมาต่อยอดและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชน ดึงดูดให้คนข้างนอกนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยในชุมชนซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีมากๆ”

ปิดท้ายกันที่ขุมทรัพย์กลางทะเลสาบกับ “มงคลรัตน์ เจริญพรทิพย์” ประธาน CIV ชุมชนเกาะยอ ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา เล่าว่า ชุมชนเกาะยอเป็นขุมทรัพย์กลางทะเลสาบ ชาวเกาะยอมีอาชีพเกษตรกรรมและประมง เกษตรกรรมแบบไม่ใช้สารเคมี ปลอดสารพิษ 100% มีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย ผลผลิตที่ได้จะขายภายในชุมชนก่อน เหลือแล้วจึงจะกระจายออกไปข้างนอก ทุกวันนี้ชาวเกาะยอยังสามารถรักษาเสน่ห์พื้นบ้านไว้เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น การล่องเรือประมงขนาดเล็กรอบเกาะยอ เพื่อชมความงามของทะเลสาบสงขลา การเยี่ยมชมวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านและการทำกระชังปลาสามน้ำ ซึ่งเป็นอาชีพการเลี้ยงปลาในกระชังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะปลากะพงขาว ทำให้เกาะยอมีอาหารทะเลสดใหม่ขึ้นโต๊ะทุกร้าน นอกจากนี้ ยังมีอาหารที่โดดเด่นและเป็นหนึ่งเดียวคือ ไข่ครอบ และยำสาหร่ายผมนาง
“การที่เกาะยอเป็นหนึ่งในชุมชนนำร่องหมู่บ้าน CIV ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะช่วยจุดประกายความคิดให้กับชาวบ้าน โดยใช้ต้นทุนทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมาเป็นเสน่ห์ในการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวตามวิถีชุมชน ทำให้พวกเรารวมตัวกันได้รวดเร็วและพัฒนาไปได้มากขึ้น ที่สำคัญคือ ไม่ลืมความเป็นวิถีชุมชนของเกาะยอ มองความยั่งยืนของอาชีพ คนรุ่นปู่ย่าตายายเราก็ให้มานั่งสานโคร๊ะ (ทางมะพร้าวสำหรับห่อจำปาดะ,ขนุน) ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ให้มาช่วยเรื่องโซเชียลมีเดีย โดย CIV ทำหน้าที่ในการจัดระเบียบว่าเราจะเดินไปทางไหน ไม่เดินแบบสะเปะสะปะ มองเป้าหมายชัดเจนขึ้น มั่นใจมากขึ้นในการรวมพลที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า”

เหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากผู้แทนชุมชนนำร่องในโครงการ “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” หรือ “หมู่บ้าน CIV” ที่ต่างขานรับเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และพร้อมที่จะเป็นแนวร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ Thailand 4.0 อย่างเต็มภาคภูมิ.

Related Posts