สมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (THAI ASSOCIATION OF FOREIGN EXCHANGE หรือ TAFEX)
ประกาศสนับสนุนแนวทางยกระดับบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในด้านการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการฟอกเงินของลูกค้าและการก่อการร้าย ตามนโยบายของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และได้พัฒนาระบบซอฟท์แวร์ในการตรวจสอบการรับลูกค้า ประกอบด้วย การรู้จักตัวตนของลูกค้า (Know Your Customer: KYC) และ การพิสูจน์ทราบลูกค้า (Customer Due Diligence: CDD) จากฐานข้อมูลผู้ก่อการร้ายสากลและผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงฟอกเงิน ส่วนทางด้านบริษัท ทเวลฟ์ วิคทอรี่ เอ็กเชน ชี้ผลดีการยกระดับความปลอดภัยสู่สากล และเตรียมพร้อมผู้ประกอบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Money Changers) เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ก่อนหน้านี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ประกาศแนวทางการกำหนดนโยบายการรับลูกค้าและนโยบายการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการฟอกเงินของลูกค้าของสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา ๑๖(๑)และ(๙) ต้องกำหนดกระบวนการเพื่ออนุมัติการสร้างความสัมพันธ์หรือปฏิเสธการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับลูกค้า โดยกำหนดหลักเกณฑ์การจัดให้ลูกค้าแสดงตน การระบุตัวตนของลูกค้า และการพิสูจน์ทราบลูกค้า และกำหนดนโยบายเก็บรักษาข้อมูลการแสดงตน การระบุตัวตน และการตรวจทานความเคลื่อนไหวในการทำธุรกรรม …
นาวสาวชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ (Chanaporn Poonsuphirun) นายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวว่า “สมาคมฯยึดมั่นในนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาลและบริการที่ซื่อตรงต่อวิชาชีพและต่อลูกค้า โดยสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประทศ (TAFEX) ยินดีดำเนินการเพื่อขานรับนโยบายนี้ และเตรียมความพร้อมของสมาชิกในการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล (Report on the Observance of Standards and Codes: ROSCs) ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti – Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) หลังจาก ปปง. ส่งรายชื่อบุคคลที่ถูกประกาศเป็นผู้ก่อการร้ายสากล ตามประกาศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รวมทั้งสิ้น 291 ราย แบ่งเป็นบุคคลธรรมดา 227 ราย และเป็นกลุ่มองคก์รหรือนิติบุคคล 64 รายมาให้กับ สมาคมฯ ซึ่งสมาคมฯได้แจ้งให้กับสมาชิกแล้ว เราได้พัฒนาระบบซอฟท์แวร์ที่จะสอดคล้องกับระบบตรวจสอบดังกล่าวเสร็จแล้วและจะทำการทดสอบใช้งานกับสมาชิกของสมาคมฯ ดังนั้นเมื่อลูกค้าเข้ามาใช้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในขั้นตอนของ การรู้จักตัวตนของลูกค้า (Know Your Customer: KYC) หมายความถึง การเก็บหลักฐานการแสดงตนจากบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางของลูกค้า ที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของลูกค้า รวมถึงการพิสูจน์ทราบลูกค้า (Customer Due Diligence: CDD) อาจมีการขยายขอบข่ายของการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มมากขึ้นและลงลึกอย่างละเอียด โดยการตรวจสอบ จะใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีในการค้นหารายชื่อจากฐานข้อมูล “
ในกรณีที่พบว่าบุคคลนั้นมีรายชื่อเป็นผู้ก่อการร้าย ร้านค้าที่รับแลกเปลี่ยนเงินตรา สามารถที่จะยึดเงินที่นำมาแลกได้ทันทีและ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อจับกุมและดำเนินคดีต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญจาก ปปง.และ International Monetary Fund (IMF) จะมาทำการสุ่มตรวจในสถานประกอบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Money Changers) และสถาบันการเงิน หากปปง. ตรวจพบว่าร้านค้าแลกเปลี่ยนเงินตราแห่งใดปล่อยปละละเลย ไม่มีการตรวจสอบที่มาที่ไปของแต่ละบุคคลถือว่าผิดกฎหมายจะต้องถูกปรับเป็นวงเงิน 1 ล้านบาท และถูกยึดใบอนุญาตประกอบกิจการทันที โดยไม่ต้องขึ้นศาล ซึ่งเรื่องนี้ ปปง. ได้แจ้งเตือนไปยังสถาบันการเงินและร้านค้าทองต่าง ๆ เพื่อไม่ให้มีการทำธุรกรรมกับผู้ก่อการร้าย
…สมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) ปัจจุบันมีสมาชิกรวมกว่า 60 ราย ทางสมาคมฯ ได้เดินทางไปพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้ประกอบการในภูมิภาคและเชิญชวนเข้าเป็นสมาชิก โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาและยกระดับบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Money Changers)ให้ก้าวไกลไปกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง กฎระเบียบใหม่ๆของโลกการเงิน การเปิดเสรีทางการเงินและการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทางสมาคมฯยังได้ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจาก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)และธนาคารแห่งประเทศไทย ในการเปิดหลักสูตรการอบรมแก่ผู้ประกอบการและบุคคลากรในวันที่ 12 พฤษภาคม 2556 ณ โรงแรมทิวลิป วสุ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ กทม. มี 3 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อที่ 1 ข้อปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดย วิทยากรจากสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและสืบสวนทางการเงิน หัวข้อที่ 2 วิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยวิทยากรจากธนาคารแห่งประเทศไทย และหัวข้อที่ 3 AECมีผลกระทบต่อธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างไร โดย ผู้อำนวยการสมาคมSME แห่งประเทศไทย”
นายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) กล่าวถึงผลดีของการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการยกระดับธุรกิจบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของไทย สร้างความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นให้ลูกค้าที่มาใช้บริการยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสร้างความโปร่งใส ซื่อตรงและถือว่าเป็นการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับโลกปัจจุบัน นอกจากนี้การเข้าร่วมระบบกับทางสำนักงาน ปปง. จะเป็นการประกาศให้ลูกค้ารู้ว่าเราเตรียมพร้อมรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economics Community) ในปี 2558
นายประเสริฐ ลีละบรรยงค์ (Prasoet Leelabanyong) รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทเวลฟ์ วิคทอรี่ เอ็กเชน จำกัด ผู้นำบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ก้าวหน้าด้วยคุณภาพระดับมาตรฐาน 6 สาขาในประเทศไทย กล่าวว่า กว่า 15 ปี ที่บริษัทฯดำเนินงานให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เรายึดหลักธรรมาภิบาลความโปร่งใส ทำให้ลูกค้าไว้วางใจและใช้บริการต่อเนื่องกับเรามายาวนาน ทั้งที่เป็นองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และบุคคลารายย่อยมากมาย บริษัท ทเวลฟ์ วิคทอรี่ เอ็กเชน ตอบรับและสนับสนุนให้การยกระดับความปลอดภัยในการบริหารความเสี่ยงจากการฟอกเงินและการก่อการร้าย ตามแนวนโยบายของ ปปง. โดยบริษัท ทเวลฟ์ วิคทอรี่ เอ็กเชน จำกัดได้พัฒนาระบบซอฟท์แวร์และได้เริ่มใช้แล้ว โดยมีการฝึกอบรมพนักงานให้เข้าใจและสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเดินหน้าพัฒนาบุคคลากรและเตรียมพร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC (Asean Economic Community) พร้อมทั้งรุกเปิดสาขาที่ 7 ที่พัทยา ในกลางปี 2556 ขยายบริการรองรับลูกค้าให้กว้างขวางยิ่งขึ้นและรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่คาดว่า ปี 2556 จะเติบโตอีกราว 14% จากปีก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะมีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามในแวดวงธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศขณะนี้ยังมีความต้องการบุคคลากร ทั้งในระดับ ปวส.และปริญญาตรี อีกจำนวนมาก
แนวโน้มของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จากภาวะเงินบาทที่แข็งค่าและมีความผันผวนอย่างมาก บางวันเคลื่อนไหวถึง 50 สตางค์ต่อดอลลาร์ นับตั้งแต่ต้นปีมาจะเห็นว่าค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค จากการไหลเข้าของเงินทุนปริมาณมหาศาลที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น หรือกินส่วนต่างของดอกเบี้ย ตลาดหุ้นของไทยเองก็ติดอันดับท้อป 5 ของโลก ซึ่งราคาค่าเงินก็มักจะเป็นไปทิศทางเดียวกับตลาดหุ้น ดังนั้นการแก้ไขหรือมาตรการต่างๆจำเป็นที่ทุกหน่วยงานต้องศึกษาวิเคราะห์ถึงข้อมูลจริงและผลกระทบ มาตรการที่ออกมาควรจะส่งผลดีต่อส่วนรวมของประเทศ
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
PR AGENCY : บริษัท เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication)
Tel. : 081-899-3599, 081-143-6567,02-911-3282 , E-mail : brainasiapr@hotmail.com