เปิดหลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ รุ่นที่3 มุ่งองค์ความรู้ทุกมิติสู่การพัฒนาต่อยอดเมืองอัจฉริยะ

ฝากข่าว โดย :

          ดีป้า สานต่อหลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ (Smart City Leadership Program: SCL) รุ่นที่3 เนื้อหาหลักสูตรครอบคลุมองค์ความรู้ในทุกมิติแบบเจาะลึกแนวทางการสร้างโครงการเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกมิติทั้งบริบทภาครัฐและเอกชน รวมถึงการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่ผู้นำเมืองต้องรู้ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 20 คน พร้อมการถอดแบบการเรียนรู้จากองค์กรในประเทศ

56200000444110_resize

          ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้มีคำสั่งเมื่อ พ.ศ. 2562 เรื่อง การจัดตั้งสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นการชั่วคราว” เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และสอดคล้องกับหมุดหมายที่ 8 ขอแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่ต้องผลักดันให้เกิดเมืองอัจฉริยะ 105 เมืองในปี พ.ศ. 2570

          ทั้งนี้ “เมืองอัจฉริยะ” เป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดีและการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน และเมืองอัจฉริยะมี 2 ประเภท คือ เมืองเดิมน่าอยู่ และเมืองใหม่ทันสมัย ซึ่งการพัฒนาครอบคลุม 7 ด้าน คือ  สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) พลเมืองอัจฉริยะ  (Smart People) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) และการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)

          โดยตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และ ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองท้องถิ่นให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถนำองค์ความรู้และทักษะด้านดิจิทัลไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร สังคมและเศรษฐกิจ ตามบริบทของเมืองอัจฉริยะ  ดังนั้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับบริษัท โนเนม ไอเอ็มซี จำกัด ได้ร่วมจัดอบรม หลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ (Smart City Leadership Program: SCL) รุ่นที่ 3 ให้ผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในส่วนกลางและภูมิภาค โดยโครงสร้างเนื้อหาหลักสูตรครอบคลุมแนวทางการสร้างโครงการเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ประเทศไทย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกมิติทั้งบริบทภาครัฐและเอกชน รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้แก่

  • Module 1: ความเข้าใจเบื้องต้น โครงการเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ประเทศไทย
  • Module 2: การจัดทำแผนเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ด้วยวิธีการคิดเชิงออกแบบ และแผนภาพโครงการธุรกิจ
  • Module 3: ความรู้ขั้นสูงเรื่องการออกแบบและพัฒนาเมือง
  • Module 4: การส่งเสริม สนับสนุนและให้ความรู้การจัดทำโครงการพัฒนาโครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะในพื้นที่จริง
  • Module 5: การศึกษาดูงานโครงการเมืองอัจฉริยะในประเทศ

          โดยระยะเวลาการอบรมเป็นหลักสูตรระยะสั้น 7 วัน สัปดาห์ละ 2-3 วัน รวม 42 ชั่วโมง มีรูปแบบการอบรม Hybrid ทั้งรูปแบบออนไลน์ และ ออฟไลน์ รวมทั้งการดูงานถอดแบบการเรียนรู้จากองค์กรในประเทศ อาทิ Huawei Thailand, ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา (FutureTales Lab), ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ., The Forestias, Creator Space (NEXT) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 20 คน เช่น ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์, คุณภุชพงค์ โนดไธสง, คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ, ดร.การดี เลียวไพโรจน์, ดร.ภาสกร ประถมบุตร, ดร.นน อัครประเสริฐกุล, ดร.รพีสุภา หวังเจริญรุ่ง, ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์, ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล , รศ.ดร.สรวิศ นฤปิติ , ดร.สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร เป็นต้น

          นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีผู้จบการศึกษาสูตรผู้นำการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ รุ่นที่ 1 และรุ่นที่  2  จำนวนกว่า 100 คน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก, รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง, รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ, รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์, รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ,รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต,  นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น, นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน, นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ จ.เชียงใหม่, รองนายกเทศมนตรีเมืองลำพูน,   รองนายกเทศมนตรีเมืองระยอง, เลขานุการนายกเทศมนตรีเมืองยะลา,  รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี, รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก, รองนายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์, รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ กฟผ., กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน), ผู้จัดการทั่วไป บริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นต้น นับเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต่อไป ดร.ภาสกร กล่าวในตอนท้าย