วิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.

FLASH PRESS
ฝากข่าว โดย :

คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เปิดหลักสูตรใหม่ “วิศวกรรมขนส่งทางราง” แห่งแรกในไทย รองรับโครงการลงทุนคมนาคมทันสมัย…พลิกโฉมประเทศไทยปัญหาคุณภาพชีวิต ความแออัดของจราจร โครงข่ายการเดินทางที่ไม่เชื่อมต่อกัน  การสิ้นเปลืองพลังงานและมลพิษที่สูงขึ้นทำให้การขนส่งมวลชนระบบรางด้วย รถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงเข้ามามีบทบาทและทวีความสำคัญในการสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ  หากแต่ไทยยังขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีระบบรางจำนวนมาก  คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เปิดรับสมัครรุ่นแรก พ.ค. 2556 รองรับการเป็นศูนย์กลางคมนาคมของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ช่วยประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน  คาดปี 2558 บุคคลากรด้านนี้จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากกว่า 2,000 คน

วิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เปิดหลักสูตรป.ตรี วิศวกรรมขนส่งทางราง (Rail Transportation Engineering) แห่งแรกของไทย เผยตลาดงานต้องการสูง คาดปี 58 ต้องการ 2,000 คน

               ศ.ดร.วัลลภ สุระกำพลธร (Prof. Dr.Wanlop Surakampontorn) ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง  กล่าวว่า “สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (Thailand Advanced Institute of Science and Technology: THAIST) เป็นหน่วยงานในสังกัดสนง.คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) (National Science Technology and Innovation Policy Office)ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานให้สถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาหรือการวิจัยและพัฒนาที่ตอบสนองต่อนโยบายและความต้องการของประเทศในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการเปิดหลักสูตรใหม่ด้านวิศวกรรมขนส่งทางรางขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.นี้เป็นหลักสูตรที่เอื้ออํานวยต่อการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในภาคการผลิตและบริการ  ด้วยความร่วมมือระหว่าง  คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.,สวทน.,บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ มหาชน (BMCL) ,การรถไฟแห่งประเทศไทย,บริษัท ซีเมนส์ และบริษัท บอมบาร์ดิเอร์       จึงนับเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ภายใต้นโยบายของ สวทน. ซึ่งมีโครงการพัฒนากำลังคนสำหรับระบบขนส่งทางราง เพื่อรองรับโครงการลงทุนระบบขนส่งทางราง ได้แก่ รถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงในปัจจุบันและอนาคต และยังเป็นการสร้างศักยภาพสู่ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่สากล ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมขนส่งและบริการระบบราง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย”

วิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.
วิศวกรรมขนส่งทางราง (Rail Transportation Engineering) เป็นหลักสูตรเปิดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เปิดสอนระดับปริญญาตรี 4 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.

              ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “วิศวกรรมขนส่งทางราง (Rail Transportation Engineering) เป็นหลักสูตรเปิดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เปิดสอนระดับปริญญาตรี 4 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. จำนวน 145 หน่วยกิต ใช้เวลาเรียน 15 สัปดาห์ต่อภาคการศึกษา สาระสำคัญที่เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการขนส่งระบบราง ได้แก่ ส่วนประกอบของรถไฟและราง, การสร้าง ตรวจสอบ และซ่อมบำรุงระบบราง, ระบบขับเคลื่อนต่างๆ ของรถไฟ เช่น ไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก และน้ำมัน, ความปลอดภัยและความสบายของผู้โดยสาร, การสึกหรอ และการซ่อมบำรุงของรถไฟ, การควบคุมและติดตามการเดินรถไฟ, ระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในปีการศึกษา 2556 นี้เปิดรับนักศึกษาจำนวน 40 คน ในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทยมีการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ในการสร้างโครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงภายในประเทศและระหว่างประเทศ  ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมประเทศไทยไปสู่การคมนาคมที่มีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและปลอดภัย  จากผลสำรวจพบว่าในปี 2558 ความต้องการบุคลากรด้านวิศวกรรมขนส่งทางรางในประเทศไทยมีมากกว่า 2,000 คน   ”

ดร.ณัฐวุฒิ หลิ่วพิริยะวงศ์ (Dr. Nuttawut Lewpiriyawong) ประธานหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง  คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงเส้นทางสู่อาชีพวิศวกรรถไฟฟ้าว่า “ในการเรียนวิศวกรรมขนส่งทางราง ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์  สจล. นี้ โดยคุณสมบัติของผู้สมัครคือ สำเร็จการศึกษาหรือกำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทยาศาสตร์ เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75  ผู้สนใจสมัครเรียนดูรายละเอียดที่ reg.kmitl.ac.thเมื่อเรียนจบแล้วจะได้วุฒิการศึกษาเป็นวิศวกรรมบัณฑิต (วศ.บ.) สามารถประกอบอาชีพที่ท้าทายและเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมและบริการขนส่งทางรางในปัจจุบันและอนาคต  ได้แก่ วิศวกร นักวิจัย หรือ อาจารย์ ในสาขาวิศวกรรมขนส่งทางราง เช่น  วิศวกรรถไฟฟ้า วิศวกรรถไฟความเร็วสูง และวิศวกรรถไฟดีเซล รวมทั้งยังสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ และอาชีพอิสระอื่นๆ    ในอุตสาหกรรมวิศวกรรมขนส่งทางรางของประเทศไทย ประเทศในภูมิภาคอาเซียน และทั่วโลก สอดคล้องกับการก้าวสู่การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558  ซึ่งผู้ที่เรียนจบสาขานี้จะเป็นบุคลากรที่ต้องการในภูมิภาค อาเซียนด้วย”

PR AGENCY      :      บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication)

Tel.                        :      ประภาพรรณ 081-899-3599, 02-911-3282

Fax.                      :      02-911-3208      E-mail :  brainasiapr@hotmail.com   Website :  brainasia.co.th