อีกหนึ่งก้าวความสำเร็จของ บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ในการสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมให้เยาวชนไทย ผ่านการประกวด “โรงเรียนต้นแบบรักษ์น้ำ มิซุอิกุ” ส่งเสริมการจัดทำแผนงานและดำเนินโครงการอนุรักษ์น้ำในโรงเรียนและขยายผลสู่ชุมชนโดยรอบ รวมถึงคัดเลือกโรงเรียนที่ชนะการประกวด จากจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง เข้าร่วมทัศนศึกษาเพื่อเรียนรู้ต้นกำเนิดของโครงการ “มิซุอิกุ” ณ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน 2567 ภายใต้โครงการ “วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ” (One Suntory Mizuiku Program 2024)
นางสาวเพียงจิต ศรีประสาธน์ รองประธานอาวุโสฝ่ายทรัพยากรบุคคลและบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในฐานะผู้แทนของวัน ซันโทรี่ ว่า “ทรัพยากรน้ำเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทซันโทรี่ เราจึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อม ผ่านการกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนเกี่ยวกับเรื่องน้ำ เช่น การปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์น้ำให้แก่เยาวชน การลดปริมาณการใช้น้ำในการผลิต และความร่วมมือกับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในการผลิต เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย เราตระหนักถึงความท้าทายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เราจึงมุ่งเน้นการดำเนินโครงการเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกและส่งเสริมพฤติกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชนที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราจึงได้จัดการประกวด ‘โรงเรียนต้นแบบรักษ์น้ำ มิซุอิกุ’ (Mizuiku Water Model School) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ ‘วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ’ โดยกิจกรรมดังกล่าว แกนนำครูและนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม ‘ค่าย มิซุอิกุ ผู้พิทักษ์รักษ์น้ำ’ (Mizuku Water Hero Camp) ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในโรงเรียนและชุมชนให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรภายในโรงเรียน รวมกว่า 8,000 คนจาก 30 โรงเรียนในจังหวัดชลบุรีและระยอง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
ภายใต้กิจกรรมประกวด ‘โรงเรียนต้นแบบรักษ์น้ำ มิซุอิกุ’ (Mizuiku Water Model School) ทั้งสองบริษัทได้มอบเงินสนับสนุนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ โรงเรียนละ 10,000 บาท รวมทั้งหมด 30 โรงเรียน เพื่อนำไปจัดทำแผนงานและดำเนินโครงการอนุรักษ์น้ำในโรงเรียนครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านนโยบาย การมีส่วนร่วมของบุคลากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการขยายผลสู่ชุมชนโดยรอบ พร้อมจัดตั้ง ‘มิซุอิกุ คลับ’ เพื่อขับเคลื่อนและขยายผลโครงการ โดยมีคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนของทั้งสองบริษัท นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และผู้แทนจากกรมทรัพยากรน้ำ กรมควบคุมมลพิษ และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมประเมินผลงานของทั้ง 30 โรงเรียนในจังหวัดชลบุรีและระยอง ผ่านการนำเสนอโครงการทั้งรูปแบบออนไลน์และการลงพื้นที่ เพื่อคัดเลือกโรงเรียนที่จะเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด ร่วมเดินทางไปทัศนศึกษาเพื่อเรียนรู้ต้นกำเนิดของโครงการ ‘มิซุอิกุ’ ณ ประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการ ‘วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ’ เป็นการตอกย้ำค่านิยมองค์กรด้าน ‘การเติบโตอย่างยั่งยืน’ (Growing for Good) ที่มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กับการเติบโตขององค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งสองบริษัทยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจตลอดมา”
ด้าน ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในคณะกรรมการ กล่าวว่า “ในรอบของการนำเสนอโครงการออนไลน์ ได้เห็นความกระตือรือร้นของเด็ก ๆ ในการเล่าถึงโครงการของตนเอง และเมื่อได้มาลงพื้นที่จริงก็สัมผัสได้ถึงความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ พร้อมความสามารถในการตีโจทย์ ความท้าทาย และแนวทางการอนุรักษ์น้ำ ด้วยการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม ‘ค่าย มิซุอิกุ ผู้พิทักษ์รักษ์น้ำ’ มาประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เพราะน้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิต หากไม่มีน้ำก็ไม่มีเรา และหวังว่าเด็ก ๆ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้จะนำองค์ความรู้ไปเผยแพร่และต่อยอดสู่ครอบครัวและชุมชนต่อไป”
สำหรับเกณฑ์การตัดสินในการคัดเลือกโรงเรียนตัวแทนเพื่อเข้าร่วมทัศนศึกษา ประกอบด้วยการรวมคะแนนจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1. คะแนนการทำแบบทดสอบระหว่างร่วมกิจกรรมค่ายฯ 2. คะแนนการนำเสนอโครงการออนไลน์ และ 3. คะแนนจากการลงพื้นที่เพื่อประเมินผลโครงการ โดยโรงเรียนที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนของจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ได้แก่
โรงเรียนเพชรพิทยาคม จังหวัดชลบุรี เน้นดำเนินโครงการผ่านการบูรณการองค์ความรู้ทุกมิติของ “สิ่งแวดล้อมศึกษา” เข้ากับการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน และจัดตั้ง “มิซุอิกุ กองร้อยอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อม” สำรวจปัญหาน้ำและสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนและชุมชน เพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการนำเสนอสิ่งประดิษฐ์ “สปริงเกอร์ช่วยโลก ลดฝุ่น ลดร้อน รดน้ำผัก” และ “ถังดักไขมัน DIY ช่วยโลก” และการดำเนินกิจกรรมเพื่อบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำสาธารณะ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษจากการตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน ส่งเสริมการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง ตลอดจนเพื่อขยายผลสู่ชุมชน อย่างหลากหลาย เช่น การปลูกจิตสำนึกให้กับสมาชิกครอบครัวของนักเรียน โรงเรียนภาคีเครือข่าย มอบสื่อการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคัดแยกขยะ สร้างความเข้าใจเรื่องขยะทะเลและไมโครพลาสติก รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรม “ปล่อยปูคืนสู่ทะเล” โครงการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำเศรษฐกิจทางทะเล กิจกรรมปลูกป่าชายเลน กิจกรรมจิตอาสา “ต้นน้ำ-กลางน้ำ” เพื่อรณรงค์ไม่ทิ้งขยะในคลองที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเทศบาลเมืองบ้านสวนและเทศบาลเมืองชลบุรี เป็นต้น
โรงเรียนชุมชนบริษัทน้ำตาลตะวันออก จังหวัดระยอง นำเสนอโครงการการจัดการเรียนรู้แบบองค์รวม และพัฒนาต่อยอดโรงเรียนสู่การเป็น Eco School ระดับกลาง ตามแนวคิด “โรงเรียนพลเมืองสิ่งแวดล้อมที่จัดการตนเองได้อย่างมีสุขภาวะองค์รวม” ผ่านการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรอบด้าน อาทิ ระบบน้ำดื่มระบบบำบัดน้ำเสียจากโรงอาหารซึ่งเคยเป็นปัญหาหลักของโรงเรียน และการตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยบุคลากรทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์น้ำภายในโรงเรียนและสามารถขยายผลสู่ครอบครัวและชุมชนใกล้เคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ โรงเรียนฯ ยังมีการบูรณาการความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในหลักสูตรการเรียนและกิจกรรมที่หลากหลายในทุกระดับชั้นเรียน อาทิ สิ่งแวดล้อมศึกษา การทำปุ๋ยจากเศษอาหาร การตรวจสอบคุณภาพน้ำด้วยการวัดค่าออกซิเจนและค่าความเป็น กรด – ด่าง ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากค่ายฯ มาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
ติดตามรายละเอียดของกิจกรรมภายใต้โครงการ “วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ: เรารักษ์น้ำ” ได้ที่ Facebook: One Suntory Mizuiku Program Thailand ( facebook.com/OneSuntoryMizuikuProgram)
ข้อมูลเพิ่มเติม
โรงเรียนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายซึ่งคณะกรรมการได้ลงพื้นที่เพื่อประเมินผลโครงการ ได้แก่
จังหวัดชลบุรี
- โรงเรียนวัดโป่งตามุข – โครงการ T.M หยดน้ำแห่งอนาคต
- โรงเรียนเพชรพิทยาคม – โครงการมิซุอิกุ กองร้อยอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อม
- โรงเรียนวัดตโปทาราม (โอสถานุเคราะห์วิทยา) – โครงการตโปทาราม ตามศาสตร์พระราชา พารักษ์น้ำ
- โรงเรียนบ้านเขาดิน (สพป. ชลบุรี เขต 3) – โครงการดินดี อนุรักษ์ พิทักษ์น้ำ
- โรงเรียนบ้านอำเภอ (เจียรวนนท์อุทิศ 9) – โครงการเปลี่ยนน้ำเสีย เป็นน้ำใส ใส่ใจรู้คุณค่า
จังหวัดระยอง
- โรงเรียนชุมชนบริษัทน้ำตาลตะวันออก – โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในโรงเรียน
- โรงเรียนนิยมสร้างตนเองจังหวัดระยอง 10 – โครงการนิคมฯ 10 รักษ์น้ำ รักษ์โลก
- โรงเรียนวัดมาบชลูด – โครงการคุณภาพน้ำดีเพื่อชีวิตของน้อง ๆ ในโรงเรียน
- โรงเรียนวัดเกาะกลอย – โครงการเกาะกลอยรักษ์น้ำ
- โรงเรียนสามัคคีราษฎร์บำรุง – โครงการรักษ์น้ำจากหัวใจ
ทั้งนี้ กำหนดการลงพื้นที่ประเมินผลการดำเนินโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำของแต่ละโรงเรียน ประกอบด้วยช่วงการนำเสนอสรุปผลงาน การเยี่ยมชมสถานที่ดำเนินโครงการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน การพูดคุยกับนักเรียน ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และช่วงตอบคำถามจากคณะกรรมการ