จาก EGA สู่ DGA จุดเริ่มต้นจากแนวทางการผลักดันของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ หรือ กว่า 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เดินหน้าดำเนินงานอย่างหนักมาอย่างต่อเนื่อง เกิดผลงานต่าง ๆ มากมายผ่านหน่วยงาน ภายใต้ชื่อ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ที่ต้องการให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐผ่านระบบเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ ต้องการส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐเกิดแนวทางในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศร่วมกันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud) การให้บริการระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ก่อให้เกิดผลงานและบริการที่ส่งผลต่อภาคประชาชนมากมาย อาทิ การพัฒนาระบบภาษีไปไหน ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ (Government Smart Kiosk) การเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐเข้าด้วยกัน จนวันนี้ตั้งแต่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ได้ก้าวสู่บทบาทภารกิจใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. (DGA) ถือเป็นองค์กรใหม่ที่จัดตั้งโดย พระราชกฤษฎีกา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 แทนสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เดิม ที่ทำงานด้านการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี 2554 หรือ 7 ปีที่ผ่านมา การย้ายหน่วยงานต้นสังกัดจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DE มาขึ้นตรงกับการสั่งการของนายกรัฐมนตรีโดยตรง ตัวองค์กรของ DGA ย่อมต้องปรับฐานองค์กรใหม่พร้อมกับภาระกิจที่ใหญ่ขึ้น
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA ยังคงขับเคลื่อนผ่านแม่ทัพคนสำคัญอย่าง ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการมาตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นผู้ออกแบบองค์กรใหม่ของ DGA ในการที่จะขับเคลื่อนความเป็นรัฐบาลดิจิทัลยุคใหม่ โดยมีบทบาทหน้าที่ในการให้บริการและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ การให้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud) การให้บริการระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กลางเพื่อการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ MailGoThai และแอปพลิเคชัน G-Chat ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นระบบติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐผ่านอุปกรณ์สื่อสารแบบเคลื่อนที่ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Saraban) ระบบเว็บไซต์กลางบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ e-Government Portal เป็นต้น ซึ่งบริการดังกล่าวเป็นได้มีการพัฒนาเพื่อรองรับและยังมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง