Esports
เอเซอร์คาดการณ์ว่าตลาดอีสปอร์ตไทยอาจเติบโต 7-15% โดยได้ปัจจัยบวกจากการที่มีผู้เล่นเกมเพิ่มมากขึ้น ทั้งเพื่อความบันเทิงและเพื่อเป็นกีฬา,มีการพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์อย่างต่อเนื่อง และภาครัฐยังสนับสนุนอีสปอร์ตเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ จึงพร้อมเดินหน้าหนุนวงการอีสปอร์ต โดยดึงนักศึกษาจากโครงการ Esports Internship Program เข้าร่วมทำงานกับทีมออแกไนซ์ เพื่อเรียนรู้การทำงานอย่างมืออาชีพ และสะสมประสบการณ์ด้านการจัดงานอีสปอร์ต ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้พิการเข้ามามีส่วนร่วมในอีเวนต์ครั้งสำคัญนี้ เพื่อต่อยอดอาชีพในวงการอีสปอร์ต
โดยเอเซอร์ได้เริ่มจัดการแข่งขัน Thailand Predator League ตั้งแต่ปี 2018 เพื่อคัดเลือกทีมผู้ชนะไปเข้าร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาค และในปี 2027 ประเทศไทยพร้อมเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Asia Pacific Predator League ซึ่งทางเอเซอร์วางแผนการจัดงาน โดยจะใช้ทีมงานทั้งหมดเป็นนักศึกษาที่ผ่านการฝึกงานจากโครงการ Esports Internship Program ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุมและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การจัดทัวร์นาเมนต์อีสปอร์ตและทำงานในบรรยากาศจริง
นายนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอีสปอร์ตในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเติบโตไปจนถึงปี 2027 โดยในปี 2022 ตลาดอีสปอร์ตมีมูลค่ากว่า 1,100 ล้านบาท เฉพาะเกมกับซอฟต์แวร์ ดังนั้นหากรวมมูลค่าตลาดฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกนับ 10 เท่า
ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมอีสปอร์ตเติบโตอย่างต่อเนื่อง
- ความนิยมในการเล่นเกม ทั้งเพื่อสันทนาการและเป็นอาชีพ โดยเฉพาะ ผ่านโทรศัพท์มือถือ
- การพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง
- ความเข้าใจของผู้ปกครองที่มีมากขึ้นเกี่ยวกับการเล่นเกม
- การส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น เกม คาแรกเตอร์ แอนิเมชัน และอีสปอร์ต
ปัจจุบัน เอเซอร์มองว่าเกมสามารถสร้างอาชีพได้จริงในอุตสาหกรรมอีสปอร์ต นอกจากการเป็นนักกีฬา ยังมีอาชีพเบื้องหลังอีกมากมาย เช่น นักพากย์ โปรดักชั่น และผู้จัดอีเวนต์ โดยเอเซอร์พร้อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอีสปอร์ตไทยเติบโต สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ รวมถึงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดแข่งขันอีสปอร์ตระดับโลกซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมกัน
ด้าน รศ. ดร.อารดา ครุจิต อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการวิจัยด้านสื่อและผู้พิการ หากเอกชนให้ความสนใจในการผลักดันอาชีพกลุ่มผู้พิการจะเกิดประโยชน์อย่างมากทั้งกับกลุ่มผู้พิการและคนทั่วไป ในสังคมมีการพูดถึงความหลากหลายเฉพาะในเรื่องเพศสภาพ แต่ความจริงประเด็นความหลากหลายจะรวมถึงทางสภาพร่างกายด้วย ดังนั้นกลุ่มผู้พิการถือเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางสภาพร่างกาย ปัจจุบันมีกลุ่มผู้พิการเล่นเกมจำนวนมากแม้แต่คนตาบอด รวมถึงมีการใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือปฏิสัมพันธ์กับบุคคลทั่วไป หากภาคเอกชนมองว่าผู้พิการมีศักยภาพในอุตสาหกรรมอีสปอร์ต จะมีการต่อยอดไปได้อีกมาก ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการจัดอีเวนต์ “เพราะผู้พิการก็เหมือนคนปกติทั่วไป ที่สามารถทำงานในอุตสาหกรรมอีสปอร์ตได้ทุกอย่าง ตราบเท่าที่ภาคเอกชนเปิดโอกาส” รศ. ดร.อารดา เสริมทิ้งท้าย