3 สมาคม เผยคำจำกัดความ พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป เป็นอุปสรรคกับการวิจัยพัฒนาเกษตรประเทศไทย

FLASH SALE
ฝากข่าว โดย :

อุปสรรคจากกฏหมายที่ขัดต่อความเป็นจริง ทำให้ปฏิบัติไม่ได้และสร้างผลกระทบเป็นอุปสรรคบั่นทอนต่อการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างมาก เมื่อเร็วๆนี้ 3 สมาคมเกษตร ได้แก่ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) , สมาคมปรับปรุงพันธุ์ และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย และสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคจาก พรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542

พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป

ชี้ประเด็นคำจำกัดความ “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป”  กินความหมายขัดต่อความเป็นจริงโดยครอบคลุมพันธุ์พืช 3 กลุ่ม คือ 1.พันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศ 2.พันธุ์พืชที่มีอยู่ในประเทศไทยที่มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย 3.ให้หมายความรวมถึงพันธุ์พืชอะไรก็ตามที่ไม่ใช่พันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น หรือพันธุ์พืชป่า    หมายถึงว่า เหมารวมพืชพันธุ์อะไรก็ตามที่มาเจอหรือมาอยู่ในประเทศไทยนั่นเอง ซึ่งในหลักสากลไม่มีการปฏิบัติเช่นนี้      

งานทั้ง 3 ส่วน คือ งานอนุรักษ์พันธุ์พืช การแบ่งปันผลประโยชน์ และการคุ้มครองพันธุ์พืช ต่างมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน จึงควรให้แยกกฎหมายออกจากกัน ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ และไม่เหมาะกับยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) สร้างผลกระทบต่อประเทศไทย และทุกฝ่ายในภาคการเกษตรตั้งแต่ เกษตรกร นักปรับปรุงพันธุ์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ การค้าการลงทุน รวมไปถึงผลเสียหายที่จะมีต่อความก้าวหน้าทางนวัตกรรมด้านการเกษตรของประเทศไทย และการก้าวเป็นฮับเมล็ดพันธุ์แห่งเอเซีย  ตลอดจนการเป็นครัวของโลกที่มีคุณภาพ

การเหมารวมถึงพันธุ์พืชที่พัฒนาโดยเกษตรกร หรือบุคคลทั่วไป เข้าเป็น“พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” ตามพ.ร.บ.นี้ นับว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่วงการปรับปรุงพันธุ์พืช ที่ไม่กระตุ้นหรือส่งเสริมให้ประชาชน ภาคเอกชน หรือผู้ที่อยากเป็นนักปรับปรุงพันธุ์พืชได้มีโอกาสทำงานพัฒนาค้นหาพันธุ์พืชใหม่   นับอุปสรรคต่อการทำงานวิจัยและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์พืช ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพันธุ์พืชคุณภาพดีหรือพันธุ์พืชใหม่ที่สนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและความต้องการของตลาด    และจะเกิดปัญหาสมองไหลของนักปรับปรุงพันธุ์และนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต     ในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการพัฒนาและศักยภาพขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในตลาดโลก

ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันแก้ไขสิ่งที่เป็นอุปสรรค   ระดมสมองสร้างสรรค์กลยุทธ์ วิสัยทัศน์และสนับสนุนส่งเสริมนวัตกรรมความรู้แก่ทุกส่วนในภาคการเกษตร    ร่วมสานพลังให้เกิดแรงขับเคลื่อนพัฒนาการเกษตรของไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืนงานอนุรักษ์พันธุ์พืช