“ไทย” จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการป่าไม้ในระดับนานาชาติ
กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “Global Meeting in Preparation for the Forest Resources Assessment 2015 and the Collaborative Forest Resources Questionnaire Reporting ระหว่างวันที่ 6 -10 พฤษภาคม 2556 ณ โรงแรม เซ็นทารา ดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่
นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุม “Global Meeting in Preparation for the Global Forest Resources Assessment 2015 and the Collaborative Forest Resources Questionnaire Reporting ” กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการประเมินทรัพยากรป่าไม้ของประเทศมาตลอด โดยได้มีการดำเนินการสำรวจทรัพยากรป่าไม้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 จากนั้นใน พ.ศ. 2531 ได้มีการประกาศปิดป่า ทำให้เป้าหมายในการสำรวจทรัพยากรป่าไม้เปลี่ยนไป โดย การสำรวจทรัพยากรป่าไม้นั้น ต้องใช้กำลังคนมาก ต้องใช้ทุนทรัพย์สูง และใช้ระยะเวลานานในการเก็บข้อมูล จากข้อมูลการสำรวจและสถิติของกรมป่าไม้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่า เหลืออยู่ประมาณ 171,585 ตารางกิโลเมตร หรือ คิดเป็น 33% ของเนื้อที่ประเทศ อย่างไรก็ตามตัวเลขพื้นที่ป่าดังกล่าว ที่ได้มีการรายงานจากหน่วยงานต่างๆ อาจมีความคลาดเคลื่อนแตกต่างกันอยู่บ้าง แสดงให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะมีการกำหนดคำจำกัดความด้านป่าไม้ การใช้เทคนิคในการเก็บข้อมูลและรูปแบบของการรายงานผลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกองค์กรและทุกหน่วยงาน
“การประชุมครั้งนี้มีเนื้อหาครอบคลุมในเรื่องของการประเมินทรัพยากรป่าไม้ไว้มากที่สุดและทันสมัยที่สุด โดยมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก 104 ประเทศ ผู้แทนองค์กรนานาชาติด้านป่าไม้ และผู้แทน FAO (องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ) จากภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วมการประชุม โดยมีการประชุมแบบองค์รวมและการประชุมแบบเป็นกลุ่มย่อย อย่างเช่น หัวข้อการประชุมเรื่องการแนะนำชุดข้อมูลสำหรับการสำรวจข้อมูลระยะไกลเพื่อจัดทำ FRA 2015 รวมถึงการอภิปรายในหัวข้อ การรายงานการบูรณาการระบบการสำรวจข้อมูลระยะไกลเพื่อนำไปสู่การใช้ของประเทศ การบรรยายหัวข้อ “เส้นทางสู่ FRA 2015 ” และการสัมมนาแบบเปิดที่ให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้เลือกเข้าร่วมการสัมมนาตามความสนใจ รวมทั้งการประชุมที่เกี่ยวกับทรัพยากรด้านการป่าไม้ ในเรื่องพื้นที่ป่าไม้ และลักษณะเฉพาะด้านต่างๆ ของป่าไม้ ผลผลิตจากป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน” ซึ่งวัตถุประสงค์ของการประชุมดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทย ในการบริหารจัดการทรัพยากรของชาติร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บุคลากรที่เข้าร่วมการประชุม”
นายปรีชา กล่าวปิดท้ายว่า ขอบคุณองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการพัฒนาด้านป่าไม้ให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด และขอยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และทุกประเทศที่เข้าร่วมในการประชุมในครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่ การพัฒนาด้านป่าไม้ของแต่ละประเทศในอนาคต.