4 พ.ค. 2560 / ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ คณะทำงาน ปราบการทำทุจริต พรรคเพื่อไทย แสดงความห่วงใยเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน ว่ามีความเหมาะสมกับภารกิจ และมีความคุ้มค่าที่ประเทศไทยจะซื้อแล้วหรือ?
ประเด็นด้านความเหมาะสม
ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ ลงวันที่ 26 ก.พ. 2559 ให้กระทรวงกลาโหมเร่งรัดการดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนาการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ในประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านความมั่นคงและลดภาระงบประมาณในการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น การผลิตเรือดำน้ำขนาดเล็ก แต่การจัดซื้อเรือที่ทางรัฐบาลกำลังดำเนินการ กลับจัดซื้อเรือขนาดใหญ่ คือ เรือ Yuan Class S-26T จากประเทศจีน ที่มีระวางขับน้ำขณะดำถึง 3,200 ตัน
หากพิจารณาถึงสภาพภูมิประเทศทางทะเลของไทยและของประเทศเพื่อนบ้านแล้ว มีระดับน้ำลึกต่ำกว่า 60 เมตรทั้งสิ้น โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งมีระดับความลึกประมาณ 25-30 เมตร จึงควรใช้เรือดำน้ำขนาดไม่ใหญ่นัก ตลอดจนควรมีระวางขับน้ำขณะดำ ระหว่าง 1,000 – 2,000 ตันเท่านั้น แต่เรือดำน้ำ Yuan Class S-26T มีขนาดใหญ่ ไม่เหมาะกับสภาพทางทะเลไทย จึงอาจทำลายแนวปะการัง สัตว์น้ำ พืชน้ำ และระบบนิเวศทางทะเลได้ นอกจากนั้น เรือดำน้ำ S-26T จะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์หากดำในระดับน้ำลึกตั้งแต่ 60 เมตรขึ้นไป แสดงว่าหากนำมาใช้อ่าวไทยและชายฝั่งของเพื่อนบ้านเราแล้ว ก็ไม่สามารถปฏิบัติการได้เต็มประสิทธิภาพของเรืออยู่ดี
หากพิจารณาถึงคุณลักษณะของเรือดำน้ำ Yuan Class S-26T แล้ว มีความสามารถดำน้ำได้เป็นเวลานานกว่า 21 วันโดยไม่ต้องขึ้นมาชาร์จไฟ และเป็นระบบขับเคลื่อนเรือโดยปราศจากอากาศ (Air Independent Propulsion System : AIP) ซึ่งจริงๆ แล้ว ระบบ AIP เป็นระบบเสริม มีความสามารถในการเคลื่อนที่ได้ 3 นอต หรือ 5.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเรือดำน้ำปกติสามารถทำความเร็วได้ประมาณ 18 นอต หรือ 33 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเป็นเช่นนี้ คงลำบากในการปฏิบัติงานจริง และด้วยขนาดที่ใหญ่เกินความจำเป็นก็ยังง่ายต่อการตรวจจับอีกด้วย
ประเด็นด้านความคุ้มค่า
จากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารเสนอราคาจากบริษัท CHINA SHIPBUILDING & OFFSHORE INTERNATIONAL CO., LTD. (CSOC) แก่ประเทศไทย สิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับภายใต้งบ 36,000 ล้านบาท คือ ตัวเรือดำน้ำ 3 ลำ การฝึกอบรมให้กับทหารเรือไทย ระบบการสนับสนุน และลูกตอร์ปิโด ลูกจริงเพียง 4 ลูก และลูกฝึกซ้อมอีก 2 ลูก หากต้องการอะไหล่ อาวุธ หรือโปรแกรมเสริมอื่นๆ เช่น ระบบการส่งกำลังบำรุงรวม ประเทศไทยจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม ซึ่งข้อมูลดังกล่าวขัดแย้งกับสิ่งที่กองทัพเรือออกมาชี้แจงกับประชาชนว่า เรือดำน้ำ S-26T มีการติดตั้งระบบอาวุธที่ครบถ้วน หลากหลายและรุนแรงหลายชนิด ได้แก่ ตอร์ปิโด อาวุธปล่อยนำวิถี และทุ่นระเบิด
เมื่อเปรียบเทียบกับคุณลักษณะและคุณสมบัติของเรือดำน้ำที่อีก 6 ประเทศเสนอนั้น พบว่าเรือดำน้ำจากจีน มีคุณสมบัติด้อยกว่าในเชิงคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น 1) ขนาดของเรือ ซึ่งใหญ่เกินไป ไม่เหมาะกับทะเลของไทย 2) ความเร็วและระยะปฏิบัติการ ซึ่งช้ากว่าและมีระยะปฏิบัติการเรือดำน้ำน้อยกว่าชาติอื่น 3) อายุการใช้งาน ที่น้อยกว่าชาติอื่นเสนอมา รวมทั้งอุปกรณ์เสริมอื่นๆ จากจีนยังเฉลี่ยได้รับน้อยกว่าชาติอื่น มีจุดเด่น คือ “จำนวนตัวเรือ” เท่านั้นที่มากกว่าชาติอื่น
เช่นนี้แล้ว… เรือดำน้ำจากจีน ยังเหมาะสม-คุ้มค่าที่จะซื้ออีกหรือ