นิทรรศการ วิถีศรัทธาอีสาน : มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน เปิดประสบการณ์สร้างแรงบันดาลใจจากศิลปะร่วมสมัยและท้องถิ่น
สุนทรียศิลปะของชาวอีสาน ความงามที่สร้างจากความศรัทธา “วิถีศรัทธาอีสาน : มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน”
นิทรรศการ ที่บอกเล่าเรื่องราวผ่าน พระไม้หรือพระพุทธรูปและฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนังอีสาน) ศิลปะนาอีฟ ของช่างแต้มอีสาน
รศ.ดร. น้ำฝน ไล่สัตรูไกล ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการเล่าว่า แรงบันดาลใจในการจัดนิทรรศการในครั้งนี้เมื่อได้เห็นพระพุทธรูปไม้ ในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภูมิปัญญาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ อันสามารถสร้างเป็นต้นแบบนิทรรศการงานศิลปะของท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่ศิลปะท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น อันเป็นพันธกิจสำคัญของโครงการ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ
นิทรรศการเล่าผ่านพระไม้ และงานจิตรกรรมฮูปแต้ม ผสมผสานกับเทคนิด ดิจิลทัลแบบ immersive เพื่อสร้างความกลมกลืนระหว่างโลกความจริงและเทคโนโลยี
“พระไม้” เป็นศาสนวัตถุที่ครั้งหนึ่งนิยมสร้างเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมอีสาน และสะท้อนความเป็นมาของวิถีชีวิต ประเพณี ภูมิปัญญาตามคติความเชื่อในพุทธสาสนา แสดงถึงเอกลักษณ์ของคนอีสาน คติความเชื่อการสร้างพระพุทธรูปนั้นได้เผยแพร่ไปในดินแดนต่าง ๆ สังคมอีสานก็มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับดินแดนใกล้เคียง และได้สร้างวัฒนธรรม ด้วยการผสมผสาน ความเชื่อทางศาสนากับ ความเป็นครูช่างทางหัตถศิลป์ชุมชนเข้าด้วยกัน และสร้างเป็นภูมิปัญญาขึ้นมาใหม่นั่น ก็คือพระพุทธรูปไม้ในรูปแบบอีสานพระไม้ในภาคอีสานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มช่างพื้นบ้าน และกลุ่มอิทธิพลช่างหลวง
ฮูปแต้ม สุนทรียะแห่งศิลปะ การเล่าเรื่องจากศรัทธาของคนอีสาน
ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนังอีสาน)
ภาพจิตรกรรมเรียบง่ายที่ถูกถ่ายทอดจากศรัทธา และภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องราวบนฮูปแต้ม บอกเล่าวิถีชีวิตประจำวันของชาวอีสาน เรื่องราวทางศาสนา ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรมพื้นบ้านของภาคอีสานนิทรรศการในครั้งนี้ด้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี และ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดงานนิทรรศการ “วิถีศรัทธาอีสาน : มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน” ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22– 27 มีนาคม 2565 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “จากการที่ศิลปะทั้งสองแบบนี้เป็นอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นในภาคอีสาน จึงถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สำคัญ และสมควรได้รับการสนับสนุนเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้เลือนหาย รวมถึงเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงเกิดเป็นงานนิทรรศการ
“วิถีศรัทธาอีสาน : มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม และสืบทอดงานฝีมืออันล้ำค่านี้ไม่ให้เลือนหายไป อีกทั้งนิทรรศการดังกล่าวยังเป็นต้นแบบสำหรับนิทรรศการผลงานศิลปะท้องถิ่นที่จะนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติต่อไป”
นิทรรศการ “วิถีศรัทธาอีสาน : มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน” ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ วิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศไทย โดยมีสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติเป็นหนึ่งในสถาบันภายใน รับผิดชอบการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ เพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงและอนุรักษ์ศิลปวัตถุที่สำคัญตั้งแต่ศิลปะไทยประเพณี ศิลปะร่วมสมัย และศิลปะท้องถิ่น เป็นสถาบันที่ส่งเสริมศิลปะแนวใหม่และศิลปินรุ่นใหม่ให้เป็นที่รู้จักในระดับชาติและระดับโลก เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะแบบครบวงจรตั้งแต่วัยแบเบาะถึงวัยสูงอายุ และเป็นสถาบันที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อันนำไปสู่การสรรสร้างนวัตกรรมที่จับต้องได้จากองค์ความรู้ศาสตร์และศิลป์
โดยนิทรรศการ “วิถีศรัทธาอีสาน : มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน” นอกจากการจัดแสดงเผยแพร่ความรู้ศิลปะการทำพระพุทธรูปไม้ หรือที่นิยมเรียกโดยย่อว่า “พระไม้” ที่เป็นศิลปวัตถุและงานช่างฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวัฒนธรรมอีสาน สะท้อนความเป็นมาของวิถีชีวิต ประเพณี ภูมิปัญญา และคติความเชื่อทางพุทธศาสนาในภูมิภาคนี้ แสดงให้เห็นถึงฝีมือและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของช่าง เป็นชิ้นงานที่ผสานความศรัทธา ความมุมานะ เพื่อเป็นพุทธบูชาแก่ตน ในการสร้างวัตถุสำหรับสักการะให้แก่ผู้คนทั่วไปที่เลือนหายไปจากภาคอีสาน และการวาด“ฮูปแต้ม” หรือรูปแต้ม จิตรกรรมฝาผนังของวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเอกลักษณ์ ถ่ายทอดเรื่องราวทางพุทธศาสนา วรรณกรรมท้องถิ่นของอีสาน โดยเฉพาะ สินไซ อีกทั้งยังมี “ภาพกาก” หรือภาพจิตรกรรมแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวอีสาน โดย ผศ. ตนุพล เอนอ่อน แล้ว ยังมีการจัดเสวนาที่เกี่ยวข้องในหัวข้อ “ความเชื่อท้องถิ่น: การอนุรักษ์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาพูดคุยเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อท้องถิ่นสามารถนำมาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์การออกแบบหรือประยุกต์ใช้กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อเสริมสร้างชุมชนท้องถิ่นและประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้งานเสวนาในหัวข้อ “ความเชื่อท้องถิ่น: การอนุรักษ์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์” วิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมให้ข้อมูลที่น่าสนใจ อาทิ “แนวทางการอนุรักษ์งานประติมากรรมพื้นบ้านในพิพิธภัณฑ์” โดย คุณเดเร็ก พูลเลน ที่ปรึกษาอิสระด้านการอนุรักษ์ประติมากรรม อดีตหัวหน้าแผนกการอนุรักษ์ประติมากรรม ประจำพิพิธภัณฑ์เททแกลเลอร์รี่ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, “ความสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องระหว่างพิพิธภัณฑ์กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สมัยใหม่” โดย คุณแฮร์เรียต วอลเลส ผู้ก่อตั้งบริษัทวอลเลส-ซีเวลล์ บริษัทออกแบบและผลิตผ้าทอ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, “การปฏิบัติการภัณฑารักษ์และการอนุรักษ์วัตถุที่เป็นมรดกแห่งชาติ” โดย คุณอเล็กซานดรา บอชส์ ภัณฑารักษ์มรดกแห่งชาติฝรั่งเศส, “แพลตฟอร์มดิจิทัลและฐานข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์” โดย รศ.ดร. ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ หัวหน้าภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, “ศิลปะพื้นบ้าน การออกแบบ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดย คุณโอลิเวอร์ หลิน รองประธานสถาบันวิจัยการออกแบบไต้หวัน ดำเนินรายการโดย รศ. ดร. น้ำฝน ไล่สัตรูไกล
“การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญในการแพร่ศิลปะท้องถิ่น อีกทั้งอนุรักษ์ศิลปวัตถุที่สำคัญเพื่อให้ศิลปะแขนงนี้ไม่เลือนหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นใหม่ จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมงานฯ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าชมและรับฟังสัมมนาไม่มาก็น้อย” รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวปิดท้าย
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “วิถีศรัทธาอีสาน : มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน” ได้ในระหว่างวันที่ 22-27 มีนาคม2565 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น