การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจและสังคมของแม่และเด็ก ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้มอบหมายให้มีการทบทวนองค์ความรู้และสถานการณ์การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น วิเคราะห์ช่องว่างการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และจัดทำมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
วัยรุ่นไทยคลอด 336 คน/วัน ชัยนาท ครองแชมป์ 23%
จากการศึกษาวิจัยของแพทย์หญิงเบจพร ปัญญายง พบว่า ในประเทศไทยมีวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ประมาณ 10 ล้านคน ชายหญิงมีสัดส่วนพอๆ กัน การคลอดในวัยรุ่นไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปี 2552 มีเด็กและวัยรุ่นคลอดจำนวน 122,736 คน นั่นคือ ประมาณ 336 คนต่อวัน การคลอดในเด็กต่ำกว่า 15 ปี มีประมาณ 3,000 คนต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเป็นการคลอดของวัยรุ่นที่มีอายุน้อยลง คือ อายุ 15-17 ปี สำหรับจังหวัดที่มีอัตราการคลอดสุงสุด 5 อันดับแรก คือ ชัยนาท กำแพงเพชร นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ และ กาญจนบุรี
วัยรุ่นที่คลอดมักจะเป็นเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และเป็นการตั้งครรภ์นอกสมรส วัยรุ่นจึงปกปิดปัญหา ทำให้มาฝากครรภ์ช้า ไม่บำรุงครรภ์ มีผลต่อทั้งมารดาและทารก โดยพบกว่าการคลอดก่อนกำหนดและทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย ที่อาจมีผลแทรกซ้อนภายหลังคลอดตามมาจากทั้ง 2 เงื่อนไขดังกล่าว เนื่องจากวัยรุ่นส่วนมากตั้งครรภ์ไม่พร้อมจึงหาทางออกด้วยการทำแท้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยและเป็นการทำแท้งที่ผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนและค่าใช้จ่ายในการรักษาผลแทรกซ้อนที่ตามมาค่อนข้างสูง อีกทั้งวัยรุ่นต้องกลายมาเป็นแม่ตั้งแต่อายุยังน้อย มีวุฒิภาวะยังไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูบุตร อาจจะมีผลกระทบทางด้านสังคมจิตใจตามมา วัยรุ่นต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เข้าสู่ระบบแรงงานก่อนวัยอันควร และส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ประเด็นที่ท้าทาย
แพทย์หญิงเบจพร ปัญญายง กล่าวถึงประเด็นที่ท้าทายในเรื่องนี้ว่า การเรียนการสอนเพศศึกษาและการบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นในประเด็นการเรียนการสอนเพศศึกษารอบด้านเพื่อป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นนั้นมีความสำคัญและเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่การเรียนการสอนยังมีข้อจำกัด ซึ่งอุปสรรคไม่ได้มาจากเยาวชนเท่านั้น แต่เป็นอุปสรรคจากทัศนคติของครูผู้สอนและผู้บริหารโรงเรียน ครูเพศศึกษาที่ขาดแคลน ผู้บริหารโรงเรียนที่มีการโยกย้ายหรือเปลี่ยนแปลงบ่อย นโยบายของโรงเรียนที่ปิดกั้น และผู้ปกครองที่ต่อต้าน รวมทั้งการขาดการสื่อสารกันเองในท้องถิ่น และปัญหาด้านงบประมาณสนับสนุน โดยที่การสอนเพศศึกษายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน การเรียนการสอนอาจบูรณาการในทุกสาระวิชาหรือบูรณาการในวิชาสุขศึกษาและพละศึกษา วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ แต่ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่บูรณาการในสาระวิชาสุขศึกษาและพละศึกษา แนะแนว นอกจากนี้ยังจัดในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่นโฮมรูม เป็นต้น
“ในอดีตที่ผ่านมาในประเทศไทยยังไม่มีหลักสูตรเพศศึกษาแยกต่างหาก เป็นเพียงเนื้อหาย่อยในหลักสูตรกลุ่มสาระสุขศึกษาที่สอนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีระของร่างกายและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่วนเพศศึกษาในมิติอื่นได้ถูกละเลยหรือมองข้ามไป ในปี 2547-2551 กระทรวงศึกษาธิการได้พัฒนาหลักสูตรเพศศึกษารอบด้านร่วมกับองค์กรแพธ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหลักสูตรเพศศึกษา มีองค์ประกอบหลัก 6 ด้าน คือ พัฒนาการของร่างกาย การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล ความเข้าใจพฤติกรรมทางเพศและการดูแลสุขภาพทางเพศ และความเข้าใจเรื่องเพศให้สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรม ซึ่งสามารถจัดการเรียนการสอนได้ประมาณ 16 คาบต่อปี ส่วน UNGASSS แนะนำให้มีรายงานการเรียนการสอนเรื่องเพศและเอดส์ทั้งความรู้และทักษะ 30 คาบ ต่อปี และการเรียนการสอนเพศศึกษารอบด้านของประเทศไทย นั้นการดำเนินการยังครอบคลุมน้อยมากในทุกระดับ” แพทย์หญิงเบญจพร กล่าว
ส่วนประเด็นการจัดบริการสุขภาพนั้น ก่อนการตั้งครรภ์วัยรุ่นจะรับบริการสุขภาพที่แผนกเด็กที่ให้บริการเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 15 ปี และเมื่อตั้งครรภ์จะรับบริการที่แผนกผู้ใหญ่หรือสูตินรีเวช ซึ่งส่งผลต่อการรับบริการสุขภาพของวัยรุ่นโดยเฉพาะการคุมกำเนิดและการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ถือว่าเป็นพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ ทำให้วัยรุ่นยังเข้าถึงบริการได้น้อย ในขณะเดียวกันการสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธ์พบว่าวัยรุ่นต้องการบริการข้อมูล/คำปรึกษาทางเว็บไซด์ ศูนย์ให้คำปรึกษาในหน่วยงาน ศูนย์รับปรึกษาทางโทรศัพท์ ศูนย์ให้คำปรึกษาในศูนย์การค้า ตามลำดับ
สสส.เสนอแนวทางลดปัญหาร้อยละ 20 ภายในปี 2555
จากความท้าทายของปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นนั้น กลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตทบทวนองค์ความรู้เรื่องนี้ และได้จัดทำมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นขึ้น โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสสส.ได้สนับสนุนให้มีการดำเนินมาตรการระยะต้นเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นขึ้นเป็นมาตรการระยะสั้นประมาณ 2 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นลงร้อยละ 20 ภายในปี 2555 ประกอบด้วยมาตรการหลัก 4 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ได้แก่
1.1 จัดให้มีการเรียนการสอนเพศศึกษารอบด้าน
1.1.1 บูรณาการหลักสูตรเพศศึกษารอบด้าน (ต้องสอดแทรกการเรียนรู้เรื่องร่างกาย อนามัยเจริญพันธ์ เพศกับเอดส์ (เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย) ทักษะการสื่อสาร รวมถึงทักษะการต่อรองและการปฏิเสธ) ในโรงเรียน มีการเรียนการสอนแบบนักเรียนมีส่วนร่วม
1.1.2 สร้างกลไกให้เกิดการเรียนการสอนเพศศึกษารอบด้านที่มีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม
1.1.3 กำหนดมาตรฐานโรงเรียนต้นแบบด้านการสอนเพศศึกษารอบด้าน
1.1.4 พัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนเพศศึกษารอบด้านอย่างต่อเนื่อง
1.1.5 สนับสนุนสื่อเกี่ยวการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและเพศศึกษา
1.1.6 พัฒนาศักยภาพครูและขยายเครือข่ายครูสอนเพศศึกษาแบบรอบด้านในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาของหน่วยงานเอกชน
1.1.7 จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนการสอนเพศศึกษาแบบรอบด้าน
1.1.8 เป็นตัวชี้วัดหนึ่งของการประกันคุณภาพการศึกษาของทุกโรงเรียน
1. 2 รณรงค์และสร้างค่านิยมเรื่องเพศสัมพันธ์ที่มีสุขภาวะ ต้องเป็นเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือการท้องไม่พร้อม มีการสื่อสารทางเพศ รวมถึง เพศสัมพันธ์ที่มีความรับผิดชอบ และ เพศสัมพันธ์ที่เกิดจากความสมัครใจ ไม่บังคับ
2. มาตรการพัฒนาระบบบริการ
ระบบบริการที่ครอบคลุมด้านการป้องกัน รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การดูแลขณะตั้งครรภ์และการคลอด และการดูแลการยุติการตั้งครรภ์
2.1 สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการปรึกษา เพื่อพัฒนาสถานบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น ให้บริการในการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำและการยุติการตั้งครรภ์ซ้ำ โดยเน้นการสร้างเสริมกระบวนการให้การปรึกษาก่อนหลังการเผชิญปัญหา (pre-post counseling)
2.2 พัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการสุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์ ในการให้ปรึกษาที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นและเยาวชนก่อน-หลังการตั้งครรภ์และการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตามระเบียบของแพทยสภา ปี2548
2.3 จัดให้มีศูนย์บริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงง่ายและเป็นมิตรกับเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ประสบปัญหาความรุนแรงทางเพศ เยาวชนที่ท้องไม่พร้อม เยาวชนติดเชื้อ เยาวชนกลุ่มชาติพันธ์และเยาวชนกลุ่มหลากหลายทางเพศในทุกจังหวัด โดยผู้ให้บริการมีความรู้ ความเข้าใจในปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์และวัฒนธรรมของเยาวชนเพียงพอ
2.4 จัดให้มีศูนย์พักพิงสำหรับวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและมีโอกาสทางการศึกษาภายหลังการคลอด
3. มาตรการด้านข้อมูล การเฝ้าระวัง และงานวิจัยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
3.1.การจัดการความรู้จากการปฏิบัติงาน ป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
3.2. การวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรเพศศึกษาแบบรอบด้าน
3.3 การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์รวมทั้งการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย
3.4 การวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิภาพของมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์
3.5 พัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย
3.6 จัดเวทีวิชาการเกี่ยวกับการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยและเพศศึกษาทุกปี
4. มาตรการพัฒนาเยาวชน เพื่อเพิ่มทักษะชีวิต และการประสานความช่วยเหลือกับผู้ใหญ่ องค์กรต่างๆรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อโอกาสทางการศึกษาและอาชีพของแม่ที่เป็นวัยรุ่น โดยเฉพาะการศึกษาต่อเนื่องภายหลังคลอด
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
จิรสุดา จิตรากรณ์ โทร.081 641 7595
บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด
โทร. 0 2354 3588 incom.co.th