วสท.เสนอรัฐ 6 ข้อ แก้จุดตัดรถไฟ ลดเสี่ยงชีวิตคนไทย…พัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในประเทศนี้

FLASH SALE
ฝากข่าว โดย :

 

                 

                 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)เสนอให้รัฐบาลหันมาปฎิรูปความปลอดภัยของระบบคมนาคมขนส่ง และจุดเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตของประชาชนปัญหาการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถี่ยิบจากรถไฟชนรถยนต์ ชนคน ตกราง อาคารถล่ม ถนนยุบตัว และในอนาคตที่ต้องเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติเช่นแผ่นดินไหว  วสท.สรุป 6 ข้อเสนอแก่รัฐบาลเร่งแก้ไขด่วน พัฒนามาตรฐานความปลอดภัยสร้างไทยให้เป็นประเทศที่ปลอดภัยรวมทั้งเสนอตั้งหน่วยงานกลางตรวจสอบและติดตามสภาพถนนทั่วประเทศของทุกหน่วยงาน พร้อมเตรียมตัวการเชื่อมโยงคมนาคมภายในและระหว่างประเทศอาเซียน

                  ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat)นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า “รัฐบาลควรหันมาปฎิรูปความปลอดภัยของระบบคมนาคมขนส่ง และชีวิตของประชาชน ขณะที่รัฐบาลดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศในด้านการขนส่ง และระบบรางไม่ว่าจะเป็นรถไฟทางคู่, รถไฟฟ้าในเมือง และระหว่างเมือง รวมทั้งรถไฟกึ่งความเร็วสูงระหว่างประเทศเพื่อนบ้านนั้น ขอให้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยภายในประเทศซึ่งทุกวันนี้ยังมีเหตุร้ายแรง และน่าเศร้าสลดที่คร่าชีวิตคนไทยเสมือนผักปลาเป็นข่าวรายวันคู่กับสังคมไทยตลอดมาสะท้อนถึงการขาดมาตรฐานความปลอดภัย และการป้องกันในทุกระบบทำงานและบริการ ดังปรากฏเหตุการณ์เขย่าขวัญ อาทิ รถไฟพุ่งชนรถยนต์ รถไฟชนคนเสียชีวิต และบาดเจ็บ ซึ่งบางวันเกิดเหตุถึง 3 ครั้งในวันเดียว รถไฟตกราง เสาไฟฟ้าโค่นล้ม ถนนยุบตัวเป็นโพรงลึก รถวิ่งตกทางด่วน และโทลเวย์ ตึกถล่ม ยังไม่รวมอุบัติภัยธรรมชาติจากแผ่นดินไหวที่จะเกิดถี่ขึ้น เป็นต้น หลายประเทศก้าวไปไกลกันแล้ว แต่จากรายงานความปลอดภัยทางถนนของโลก ปีพ.ศ.2556 (Global Status Report on Road Safety 2013) โดยใช้ข้อมูลสถิติปี 2555 ปรากฏว่า ประเทศไทยมีสถิติผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 ของ 87 ประเทศสมาชิก โดยมี ผู้เสียชีวิตในอัตรา 38.1 คนต่อประชากร 1 แสนคน ดังนั้น ความปลอดภัยของประชาชนและประเทศ จึงเป็นวาระสำคัญยิ่ง เนื่องจากผลกระทบจากอุบัติเหตุความไม่ปลอดภัยสร้างความเสียหาย และทำลายโอกาสของประเทศ สั่นคลอนความเชื่อมั่นในธุรกิจอุตสาหกรรม การลงทุนและเศรษฐกิจ สังคมขาดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คุณภาพชีวิตของประชาชนตกต่ำ

นายก วสท. กล่าวถึง“สถิติอุบัติเหตุทางรถไฟ, และอุบัติเหตุอื่น ๆ อันเนื่องมาจากการละเลยในเรื่องความปลอดภัย ว่า “สถิติอุบัติเหตุที่จุดถนนตัดรางรถไฟ ย้อนหลัง 5 ปีคือปี 2552-2556 เกิดทั้งสิ้นรวม 2,768 ครั้ง โดยในปี 2552 เกิดอุบัติเหตุ 557 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ  266 ราย และเสียชีวิต  168 ราย, ปี 2553 เกิด 523 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 331 ราย และผู้เสียชีวิต 159 ราย, ปี 2554 เกิด 609 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 334 ราย และผู้เสียชีวิต 129 ราย, ปี 2555 เกิด 557  ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 255 ราย และผู้เสียชีวิต 104 ราย, ปี 2556 เกิด 522 ครั้ง (มีผู้บาดเจ็บ 239 ราย และผู้เสียชีวิต 99 ราย)โดยแบ่งเป็นอุบัติเหตุรถไฟตกราง จำนวน 125 ครั้ง รถไฟชนยานพาหนะ จำนวน 112 ครั้ง รถไฟชนคน จำนวน 79 ครั้ง และจากสาเหตุอื่น ๆ จำนวน 206 ครั้ง  อย่างไรก็ดี ในปี 2557 ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเกิดเหตุร้ายซ้ำ ๆ ที่น่าเศร้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น วันที่ 8 ก.ย. 2557  รถไฟชนหญิงวัย 41 ปี ร่างขาดกลางแยกยมราช, วันที่ 3 ต.ค. 2557 รถยนต์พุ่งตกจากโทลเวย์, วันที่ 28 ต.ค. 2557 มี 3 เหตุร้ายรถไฟชนรถยนต์ที่ จ.เพชรบุรี เสียชีวิต 2 ราย รถไฟชนรถเก๋งที่ จ.ชลบุรี  และรถไฟชนรถเก๋งที่ จ.พิษณุโลก มีผู้บาดเจ็บสาหัส, วันที่  30 ต.ค. 2557 ขอนแก่น บ้านหนองกุง รถไฟชนรถ 10 ล้อ ตาย 4 ราย, วันที่ 3 พ.ย. 2557  รถไฟชนเก๋งที่ จ.ยะลา บาดเจ็บ, ล่าสุดวันที่ 11 พ.ย. 2557 รถไฟสายธนบุรี-ไทรโยค ชนคนเสียชีวิต 1 รายที่สถานีธนบุรี”

                 นายก วสท. กล่าวว่า“สาเหตุของอุบัติเหตุจุดตัดรถไฟส่วนใหญ่มาจากไม่มีเครื่องกั้นทางรถไฟ หรือระบบเตือนภัยที่ดี ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความปลอดภัยและการฝ่าฝืนจราจร  ต้องเร่งแก้ไขเนื่องจากปัจจุบันรถไฟทางเดี่ยววิ่งช้าเฉลี่ย 30 กม./ชั่วโมง ยังเกิดอุบัติเหตุมากมายเพียงนี้ หากมีการพัฒนารางคู่ซึ่งรถไฟจะวิ่งเร็วถึง 90 กม./ชั่วโมง และหากเป็นรถไฟฟ้าทางคู่ความเร็วจะเพิ่มเป็น 160 กม./ชั่วโมง ประชาชนจะต้องสังเวยชีวิตและทรัพย์สินอีกเท่าไหร่  ตลอดความยาวของรางรถไฟทั่วประเทศกว่า 4,000 กม. มีจุดตัดรถไฟรวมกับทางลัดของชาวบ้านที่ใช้ข้ามทางรถไฟกว่า 1,300 จุด (จุดตัดรถไฟของ รฟท. 775 แห่ง, ทางลัดชาวบ้าน 584 แห่ง) ควรต้องมีเครื่องกั้นรถไฟและป้ายสัญญาณเตือนที่มีประสิทธิภาพ ในแง่โครงสร้างควรปรับปรุงพัฒนาระบบทำงานด้านความปลอดภัย เจ้าของพื้นที่ซึ่งมีจุดตัดทางรถไฟอยู่ต้องเข้ามามีส่วนเสริมสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนด้วย ขณะที่ประชาชนและผู้ขับขี่รถยนต์ต้องทำตามกฎหมายและมีวินัยจราจรไม่แซงข้ามขณะมีสัญญาณรถไฟปรากฏ  ตลอดจนไม่ใช่ใครก็ได้สามารถทำทางลัดข้ามรางรถไฟ จุดตัดเดียวอาจสร้างปัญหาสูญเสียชีวิตทรัพย์สินได้มากมาย ต้องขออนุญาตจาก รฟท.และรฟท.ก็ต้องดำเนินการให้จุดตัดรถไฟมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล สำหรับโครงการใหม่ควรลดจุดตัดรถไฟ โดยทำทางลอดหรือทางรถไฟข้ามทางแยก”

             


4.6.10

 

 

                   นายอรวิทย์ เหมะจุฑา (Mr.Oravit  Hemachudha) ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)กล่าวถึงการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในเมืองไทยนับว่ามีความรุนแรงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้การเกิดอุบัติเหตุ คนส่วนใหญ่มักมองเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมีความคุ้นชินกับสิ่งนี้  แต่สิ่งที่เรากังวลกลายเป็นโรคระบาด เช่น ไข้หวัดนก ทั้งๆที่อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมีมากกว่าหลายเท่าตัว  ส่วนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นมีอยู่หลายปัจจัย เช่น นโยบายรถคันแรก จากสถิติมีผู้ลงทะเบียนขอรถป้ายแดงเพิ่มขึ้นเป็นล้านคันซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าตัว  แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ คนที่ออกรถป้ายแดง ไม่มีศักยภาพที่จะขับรถได้ดีพอ และคนที่เป็นเหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นคนเดินถนน นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการเมาแล้วขับ ปี 2555และ2556 สถิติ สตช. มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทั้งหมด 9,716 และ 8,631 ราย, เฉลี่ยวันละ 27และ 24 ราย, เฉลี่ยเดือนละ 810 และ 720 รายโดย เกิดในพื้นที่ กทม. 373 และ 291 ราย ข้อสังเกตอุบัติเหตุบนถนนมักจะเกิดซ้ำๆที่จุดเดิม อุบัติเหตุในช่วงเทศกาลจะเกิดมากในถนนสายหลัก ส่วนในช่วงปกติจะเกิดในชุมชนหรือถนนสายรอง การรณรงค์ความปลอดภัยต้องทำตลอดปีให้เกิดอุปนิสัยและสังคมที่เห็นค่าความปลอดภัยควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัยอุบัติเหตุบนท้องถนนและจุดเกิดเหตุด้วย

ในด้าน ป้ายโฆษณาที่ปรับเปลี่ยนภาพได้โดยใช้หลอด LED ที่ขยายตัวไปทั่วเมือง และบนเส้นทางคมนาคม และป้ายที่ดึงดูดสายตาอาจสร้างผลกระทบต่อสมาธิในการขับขี่ยานพาหนะอันจะนำไปสู่อุบัติเหตุ โครงสร้างป้ายทั้งเล็กใหญ่ตั้งอยู่ในชุมชนหากโค่นล้ม หรือโดนพายุก็เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายแก่ประชาชนและชุมชน เพราะป้ายจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายก่อนติดตั้ง ถึงเวลาที่ควรต้องทำการวิจัยเพื่อทบทวนกฎเกณฑ์และจัดระเบียบใหม่ กำหนดจุดที่ห้ามติดตั้งบนทางบริเวณที่รถใช้ความเร็วสูง ทางโค้งที่เสี่ยงอันตราย  กำหนดความเข้มของแสงและลักษณะภาพเคลื่อนไหวที่ไม่เสี่ยงต่ออันตรายของผู้ขับขี่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ถนน

                  รศ.เอนก ศิริพานิชกร (Assoc.Prof.Anaek Siripanichgorn) ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท.กล่าวว่า

อุบัติภัยใกล้ตัวสำหรับประชาชนทั่วไป จากรอบหลายปีพบความเสียหายจากการใช้ถนนที่บางส่วนเกิดการยุบตัวทำให้เกิดอุบัติเหตุและความเสียหาย ทั้งนี้เนื่องจากขาดการบูรณาการในการทำงานของหน่วยงานสาธารณูปโภคของรัฐ เป็นผลให้โครงสร้างวัสดุรองทางเสียหาย, อุบัติภัยจากธรรมชาติ ได้แก่ แผ่นดินไหวและแรงลมที่ประชาชนต้องเผชิญหน้าอย่างรุนแรงขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นต้องให้ความรู้ สร้างคู่มือประชาชนให้อยู่กับภัยจากธรรมชาติอย่างเหมาะสม การเตือนภัยที่จะเกิดขึ้นประจำตามฤดูกาล เช่น การพังเสียหายจากป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ เนื่องจากลมพายุฤดูร้อน รวมทั้งการบังคับใช้มาตรฐานที่ดีในการออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างป้ายขนาดใหญ่ ทั้งนี้อาจพิจารณาจากการเกิดซ้ำของเหตุภัยพิบัติประเภทนี้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน,อุบัติเหตุทางถนนหลวง ซึ่งเกิดขึ้นจากการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาล ซึ่งใช้รถยนต์เป็นหลัก การกำหนดยุทธศาสตร์ของรถไฟระหว่างเมือง หรือกึ่งความเร็วสูงมุ่งสู่เมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาคมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย เช่น ภาคเหนือที่ จ. พิษณุโลก, อีสานถึงนครราชสีมา, ทางใต้ถึงหัวหิน ถึง จ. ชุมพร จะทำให้ประชาชนมีการเดินทางที่หลากหลาย (Multi – Modes Transportation) เกิดการแลกเปลี่ยนการเดินทางที่มีปริมาณมากในช่วงเทศกาล สร้างท่ารถโดยสาร (Bus Terminal) ในจังหวัดที่เป็นศูนย์กลาง ระบบรางรถไฟฟ้าระหว่างเมือง หรือกึ่งความเร็วสูงจะช่วยให้ประชาชนเปลี่ยนรูปแบบ (Mode)การเดินทางแทนรถยนต์ส่วนตัว ทำให้เกิดความปลอดภัยและประหยัดพลังงาน, ควรดำเนินการเพื่อจัดทำการประเมินถนนความปลอดภัย (Road Safety Audit ) เพื่อจัดการความรู้ให้หน่วยงานท้องถิ่น หาทุนสนับสนุนการจัดทำถนนปลอดภัยตามวิธีวิศวกรรม โดยหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพประชาชน (สสส.) ทำการประกวดให้รางวัล ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ

                ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี (Asst.Prof.Komson Maleesee) กรรมการอำนวยการ วสท. และคณะกรรมการจัดงานวิศวกรรม’57 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 27-30 พ.ย.2557 กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 71 ปี ของวสท. ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาวิชาชีพเพื่อสังคมประเทศชาติ กำหนดจัด งานวิศวกรรม’57 ที่ไบเทคบางนา นิทรรศการรวมนวัตกรรม วิศวกรรมและผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น โดยในงานนี้จะมีการให้ความรู้และสัมมนากว่า 120 หัวข้อ รวมทั้งการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในอุตสาหกรรมและสังคมไทย ซึ่งนับเป็นวาระแห่งชาติ การที่ประชาชนคนไทยจะเกิดพฤติกรรมด้านความปลอดภัยที่ถูกต้องได้นั้น บุคคลควรต้องมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องของความปลอดภัย และมีทัศนคติที่ดี หรือมีความตระหนักในเรื่องของความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ โดยวิธีก่าร 1. สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันภัยอันตรายต่างๆ โดยการเผยแพร่ความรู้ผ่านกลุ่มคนในองค์กร โรงงานและชุมชน เช่น การฝึกซ้อมหนีไฟ และการปฐมพยาบาล ฝึกอบรมการป้องกันภัยจากโจรผู้ร้าย การแจ้งเตือนถึงอันตรายของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ จนก่อให้เกิดความตระหนักโดยอัตโนมัติ 2. การปลูกฝังทัศนคติที่ดีด้านความปลอดภัย คือ การตระหนักว่าความปลอดภัยมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทำให้บุคคล ครอบครัว องค์กร โรงงานและชุมชนมีสุขภาพที่ดี และการไม่ระมัดระวัง ฝ่าฝืนกฎความปลอดภัยต่าง ๆ ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ให้คนในองค์กรและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อกระบวนการสร้างเสริมความปลอดภัยในชุมชนให้มากที่สุด เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย และเป็นภาระหน้าที่ของทุกคนที่ต้องมีพฤติกรรมด้านความปลอดภัยที่ถูกต้อง  3. การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย องค์กร โรงงาน และชุมชนต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติและมีการสืบทอดพฤติกรรมด้านความปลอดภัยต่าง ๆ จากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อไป จนเกิดเป็นวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยต่าง ๆ ขึ้นในสังคมชุมชน เช่นการขับขี่ตามกฎจราจร การหลีกเลี่ยงสารเสพติด การให้ความร่วมมือในการป้องกันภัยอันตรายขององค์กรและชุมชน เป็นต้น

                 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้สรุป

6 ข้อเสนอต่อรัฐบาลในการกู้สังคมไทยให้เป็นประเทศปลอดภัย และเสริมความปลอดภัยให้ชีวิตคนไทย  ดังนี้

1.ทุกระบบและโครงการคมนาคมขนส่งที่ให้บริการประชาชนจะต้องวางแผนและดำเนินการด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

2.ระบบรถไฟที่มีอยู่เดิมและที่จะสร้างรางคู่ใหม่ต้องมีเครื่องกั้นทางรถไฟหรือระบบเตือนภัยที่จุดตัดถนนที่มีประสิทธิภาพทั่วประเทศ  ลดจุดตัดรถไฟลง โดยทำทางลอดหรือทางรถไฟข้ามทางแยก

3..ส่งเสริมให้มีหน่วยงานกลาง (Transportation & Road Safety Audit) และงบประมาณในการทำหน้าที่ตรวจสอบลักษณะกายภาพของถนนและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยได้รับงบจากทุกหน่วยงานด้านคมนาคมขนส่ง

4.รัฐบาลต้องเน้นนโยบาย และรณรงค์ให้ตระหนักและปฎิบัติในเรื่องความปลอดภัย เสริมสร้างให้เครือข่ายสถานศึกษา องค์กรภาครัฐ และเอกชนรณรงค์เผยแพร่ความรู้ด้านความปลอดภัยแก่เยาวชน ประชาชน บุคลากรในองค์กร ไลน์การผลิต และชุมชน อย่างทั่วถึงทั้งประทศ มิใช่รณรงค์เฉพาะช่วงเทศกาล

5.สนับสนุนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอุปกรณ์ความปลอดภัยและทบทวนกฎเกณฑ์ และจัดระเบียบป้ายโฆษณาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ถนน

6.เพิ่มโทษแก่ผู้ก่ออุบัติเหตุ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

———————————————————————————–

PR AGENCY  :  บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication)

Tel.               :  ประภาพรรณ 081-899-3599, โสภนา 086-341-6567     E-mail: brainasiapr@hotmail.com