ปี 2552 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวครั้งล่าสุด การส่งออกของประเทศไทยเกิดอาฟเตอร์ช็อกเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยหดตัวถึง -14.26% เนื่องจากตลาดหลักเกิดภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรง ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จึงเริ่มมีการทบทวนนโยบายการส่งออกไปสู่ตลาดใหม่ๆ จากที่เคยกระจุกตัวอยู่ที่ตลาดยักษ์ใหญ่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ทั้งนี้นอกจากเพื่อกระจายความเสี่ยงแล้ว ยังอาจนำไปสู่ธุรกิจสินค้าหรือนวัตกรรมเพื่อตอบสนองผู้บริโภคใหม่ๆ ซึ่งเป้าหมายการกระจายความเสี่ยงที่น่าจับตามอง ได้แก่ ตลาดกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา
กลุ่มประเทศลาตินเมริกามีทั้งสิ้น 47 ประเทศ ประเทศที่คุ้นชื่อกันดี เช่น บราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา ชิลี โคลัมเบีย เป็นต้น ลาตินอเมริกามีประชากรรวมกันประมาณ 590 ล้านคน ใกล้เคียงกับกลุ่มอาเซียนที่มีประชากรรวมกันราว 600 ล้านคน เมื่อวิเคราะห์ถึงรายได้ของประชากรเฉลี่ยพบว่ามีสูงถึง 7,974 ดอนลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ขณะที่ประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 4,621 ดอนลาร์สหรัฐฯ ต่อปี สูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการส่งออกไปยังลาตินอเมริกาคิดเป็น 3% ของสัดส่วนการส่งออกรวม ขณะที่การนำเข้ามีสัดส่วน 1.9% ของการนำเข้าโดยรวม
ประเทศไทยมีมูลค่าการค้ากับกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาไม่มากนัก โดยในปี 2553 มูลค่าการส่งออกของไทยไปประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา ประมาณ 5,801.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวสูงถึง 70.52% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 3,443.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวสูงถึง 42.59% การส่งออกไปมากกว่าการนำเข้า จึงส่งผลให้ไทยมีสถานะเกินดุลกับประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา โดยในปี 2553 ไทยมีมูลค่าการค้าเกินดุลกับลาตินอเมริกา เท่ากับ 2,358.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ.ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ชี้นำเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม จึงได้ศึกษาวิเคราะห์เรื่อง “เปิดประตูบุกตลาดลาตินอเมริกา” เพื่อศึกษาตำแหน่งทางการตลาด และความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบสินค้าอุตสาหกรรมไทยในตลาดลาตินอเมริกา รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์สินค้าอุตสาหกรรมไทยที่คาดว่าจะมีศักยภาพเข้าไปแข่งขันในตลาดลาตินอเมริกาได้อย่างเข้มแข็ง โดยคัดเลือกประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกาที่ไทยส่งออกมีมูลค่ามาก 5 อันดับแรก ได้แก่ บราซิล เม็กซิโก อาเจนตินา ชิลี และโคลัมเบีย วิเคราะห์เชิงลึกในสินค้าอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 14 สาขา ได้แก่ 1.อาหารเครื่องดื่มและยาสูบ 2.สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 3.ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง 4.ผลิตภัณฑ์ไม้ 5.ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ 6.ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและถ่านหิน 7.เคมีภัณฑ์ 8.ยางและพลาสติก 9.ผลิตภัณฑ์อโลหะ 10.ผลิตภัณฑ์โลหะ 11.ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะ 12.ยานยนต์และชิ้นส่วน 13.เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ 14.อุตสาหกรรมอื่นๆ จากการศึกษาโครงสร้างการส่งออกของประเทศไทยไปยัง 5 ประเทศที่ทำการศึกษาครั้งนี้พบว่า ในปี 2553 ไทยมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด คือตลาดบราซิลมีสัดส่วนการส่งออก 29.00% ของมูลค่าการส่งออกไปลาตินอเมริกาทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ เม็กซิโก 17.39% อาร์เจนตินา ชิลี และโคลัมเบีย 10.69% 9.24% และ 6.85% ตามลำดับ ซึ่งถ้ารวมมูลค่าการส่งออกของทั้ง 5 ประเทศ มีสัดส่วนรวมกัน 73.17% ของมูลค่าการส่งออกของไทยไปลาตินอเมริกา ขณะที่การนำเข้า พบว่าไทยนำเข้าสินค้าจากประเทศบราซิลมากที่สุดในสัดส่วน 53.03% รองลงมาได้แก่ อาร์เจนตินา เม็กซิโก ชิลี และโคลัมเบีย 15.45% 11.70% 8.95% และ 1.31% ตามลำดับ ซึ่งถ้ารวมมูลค่าการนำเข้าของทั้ง 5 ประเทศ มีสัดส่วนรวมกัน 90.44% ของมูลค่าการนำเข้าจากลาตินอเมริกา
จากการวิเคราะห์ศักยภาพของอุตสาหกรรมทั้ง 14 สาขา สามารถจัดกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ดังนี้
สรุปสินค้าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในตลาดลาตินอเมริกา
สินค้าอุตสาหกรรม | บราซิล | เม็กซิโก | อาร์เจนติน่า | ชิลี | โคลัมเบีย |
อาหารเครื่องดื่มและยาสูบ | มาก | ||||
สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม | มาก | ปานกลาง | มาก | มาก | ปานกลาง |
ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง | ปานกลาง | ||||
ผลิตภัณฑ์ไม้ | |||||
ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ | |||||
ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและถ่านหิน | |||||
เคมีภัณฑ์ | |||||
ยาง และพลาสติก | มาก | มาก | ปานกลาง | ||
ผลิตภัณฑ์อโลหะ | |||||
ผลิตภัณฑ์โลหะ | มาก | ||||
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะ | |||||
ยานยนต์และชิ้นส่วน | มาก | มาก | ปานกลาง | ||
เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ | มาก | ปานกลาง | |||
อุตสาหกรรมอื่นๆ | มาก | มาก | ปานกลาง |
หมายเหตุ : มาก หมายถึง เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและโอกาสมาก
ปานกลาง หมายถึง เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและโอกาสปานกลาง
ประเทศที่ไม่ระบุ หมายถึง เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและโอกาสเข้าสู่ตลาดลาตินอเมริกาน้อย
ที่มา : สำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
โครงสร้างการส่งออกสินค้าแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันไป ในอดีตถนนทุกสายของการส่งออกมุ่งตรงไปยังประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา ยุโรป เป็นหลัก การส่งออกที่กระจุกตัวเมื่อประเทศที่ส่งออกหลักมีปัญหาทางเศรษฐกิจย่อมส่งผลกระทบโดยตรง ดังนั้น การกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการเปิดตลาดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ปัจจุบันหลายๆ ประเทศในโลกเริ่มเห็นถึงโอกาสทางการตลาดในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกามากขึ้น ทั้งประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน บรูไน สิงคโปร์ อินเดีย เริ่มขยับตัวเจาะตลาดลาตินอเมริกามากขึ้น โดยเฉพาะมาเลเซียได้เริ่มบุกตลาดลาตินอเมริกามามากกว่า 10 ปี และมีทิศทางการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังกลุ่มประเทศลาตินอเมริกายังมีช่องว่างการขยายตัวอีกมาก ให้ผู้ประกอบการไทยเร่งพัฒนาสินค้า จากกรณีศึกษาดังกล่าวถึงแม้จะเป็นเบื้องต้น แต่จะช่วยให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมใดที่มีศักยภาพและโอกาสอยู่แล้ว ผู้ประกอบการต้องรักษาระดับคุณภาพให้คงอยู่ และยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น เพื่อเป็นการมัดใจลูกค้าให้ยาวนาน ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมใดที่อยู่ในระดับปานกลางต้องเร่งเติมเต็มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น เพื่อรักษาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงให้คงอยู่ต่อไป
เมื่อประตูแห่งโอกาสเปิดกว้างรออยู่ หากไม่รีบคว้าไว้ เสียแต่วันนี้ ท่านอาจจะไม่ให้อภัยตัวเองตลอดไป