บมจ.ถิรไทย เผยทิศทางปี 65 ชี้แววบวก คาดโต 10% หลังตุน Backlog 718 ล้านบาท

FLASH SALE
ฝากข่าว โดย :

บมจ.ถิรไทย

“บมจ.ถิรไทย” หรือ TRT เตรียมลุ้นงานใหม่อีกกว่า 1,000 ล้าน หวังดันรายได้ปี 65 โต 10% ล่าสุดตุนแบ็กล็อกในมือแล้วกว่า 718 ล้านบาท 


หลังไตรมาสที่ 1/2565 มีรายได้แล้ว 445.28 ล้านบาท “สัมพันธ์ วงษ์ปาน” ผู้บริหารเผยกำลังเร่งเจรจาบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อตรึงราคาวัตถุดิบไว้ เช่น ทองแดง เหล็ก สินแร่ต่าง ๆ รวมถึงแบตเตอรี่ลิเธียม ที่ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก เพื่อควบคุมราคาสินค้าให้มีผลกระทบต่อภาวะตลาดน้อยที่สุด

บมจ.ถิรไทย

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ ของกลุ่ม บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 1 / 65 ที่ผ่านมา บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายหม้อแปลงไฟฟ้า 380.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 42.91 หรือ 12.72 % เนื่องจากมีการส่งมอบหม้อแปลงเพิ่มขึ้น และบริษัทฯ มีรายได้จากการบริการ 40.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13.36 ล้านบาท หรือคิดเป็น 48.77%

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีรายได้ตามสัญญาก่อสร้าง จากการดำเนินงานของบริษัทย่อย 15.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.10 ล้านบาท หรือ 89.51% และมีกำไรขั้นต้นจากการบริการร้อยละ 51.86 % เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 47.63 เนื่องจากการควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

บมจ.ถิรไทย

นายสัมพันธ์ กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้แนวโน้มของบริษัทฯ ในไตรมาส 2/65 คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมทั้งปีคาดว่าผลประกอบการจะเป็นบวก หรือมีเป้าหมายรายได้เติบโต 10% หรือประมาณ 2,279 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 2,048 ล้านบาท และบริษัทฯ คาดว่าจะมีกำไรขั้นต้นปีนี้อยู่ที่ระดับ 18-20%

ในปี 65 นี้ บริษัทฯ มีรายได้โดยแบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า จำนวน 1,965 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงานในประเทศ และงานภาครัฐ จำนวน 1,515 ล้านบาท และส่งออกอีก 300 ล้านบาท และมีงานบริการอีกจำนวน 150 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจากรายได้ธุรกิจที่ไม่ใช่หม้อแปลง (Non-Transformer) จำนวน 314 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้บริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากธุรกิจแบตเตอรี่และรายได้อื่นๆ อีกประมาณ 100 ล้านบาท

ณ วันที่ 31 มี.ค. 2565 บริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 718 ล้านบาท โดยกำหนดรับรู้รายได้ภายในปีนี้ทั้งหมด อีกทั้งบริษัทฯ อยู่ระหว่างการติดตามงานประมูลเพิ่มเติม คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 12,659 ล้านบาท แบ่งเป็น งานหม้อแปลง 11,600 ล้านบาท จากโครงการการไฟฟ้านครหลวง มูลค่า 3,700 ล้านบาท โครงการจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มูลค่า 3,000 ล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มูลค่า 900 ล้านบาท และโครงการอื่น ๆ ในประเทศอีก 1,900 ล้านบาท รวมถึงส่งออก 2,100 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นงานที่ไม่ใช่หม้อแปลง จำนวน 1,059 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ คาดหวังจะคว้างานประมาณ 20-25%

“ในภาวะที่ต้นทุนวัตถุดิบที่มีการปรับตัวสูงขึ้นนั้น ทางบริษัทฯ ได้มีการเจรจาเพื่อตรึงราคาวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับหม้อแปลงไฟฟ้า เช่น ทองแดง เหล็ก และสินแร่ต่าง ๆ รวมถึงแบตเตอรี่ลิเธียม ที่บริษัทฯ กำลังทำตลาด มีการปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งได้มีการเจรจาทั้งฝั่งซัพพลายเออร์ และลูกค้าของบริษัทฯ ด้วย เพื่อควบคุมราคาสินค้าให้มีผลกระทบตามภาวะตลาดน้อยที่สุด” นายสัมพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย