สำนักข่าวรอยเตอร์ออกข่าวฮือฮาไปทั่วโลกกับนวัตกรรม…หุ่นยนต์ตักบาตรครั้งแรกในโลก โดยฝีมือนักศึกษาไทยและอาจารย์นักวิจัยวิศวลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย
รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง สจล. กล่าวว่า “ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เครือข่ายอาจารย์เพื่อสันติ ชมรมโรบอต และอีกหลายหน่วยงาน จัดงานตักบาตรนวัตกรรม…ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า ด้วยจิตอาสามุ่งมั่นทำความดี ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ได้สร้างหุ่นยนต์ตักบาตร ครั้งแรกของโลก คือ หุ่นยนต์ชงโค และแคแสด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ “การให้” ด้วยความรักความเมตตาต่อกันในสังคม พร้อมต้อนรับน้องใหม่ สจล.ด้วยวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม
สื่อความหมายให้คนทั่วโลกเห็นว่า ความเจริญของเทคโนโลยีนั้นสามารถยกระดับจิตใจมนุษย์ให้สูงส่งขึ้นไปพร้อมกันได้ด้วยเพื่อสังคมที่สันติสุข โดยมีนักศึกษาคนรุ่นใหม่และชุมชนนับหมื่นคนร่วมตักบาตรแด่พระภิกษุกว่า 2,555 รูป ณ ลานสนามกีฬาของ สจล.เมื่อเร็วๆนี้ อาหารตักบาตรที่ได้นั้นจะนำไปถวายคณะสงฆ์ 286 วัด ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา พร้อมทั้งมอบหุ่นยนต์ตักบาตร แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติด้วยซึ่งได้นำไปร่วมงานตักบาตรกับประชาชนเมื่อเช้าของวันที่ 7 ก.ค.55 ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินัล 21 ย่านอโศก และกิจกรรมต่างๆต่อไป “
มาคุยกับ 3 นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ส่วนหนึ่งของสมาชิกทีม 40 คน คุยถึงการทำงานสร้างหุ่นยนต์ตักบาตรครั้งแรกของโลก กับมุมมองของคนรุ่นใหม่ในพุทธศาสนา
นัทพล ผลเจริญพงศ์
นัทพล ผลเจริญพงศ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ลาดกระบัง วัย 26 ปี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าทีมนักศึกษาสร้างหุ่นยนต์ตักบาตร ครั้งแรกของโลก คุยให้ฟังว่า
“ คนรุ่นใหม่เห็นหุ่นยนต์เป็นฮีโร่ของเขาอยู่แล้ว จึงคิดสร้างหุ่นยนต์เป็นสัญลักษณ์ของ “การให้” มาร่วมตักบาตรกับคน เริ่มคิดว่าภาพลักษณ์หน้าตาหุ่นยนต์จะเป็นอย่างไรดี ศึกษาเทคนิค วิธีการหยิบของ การควบคุมแขน แนวคิดดีไซน์สรุปทำเป็นรูปบาตรพระให้คนทั่วโลกเห็นแล้วรู้ได้ทันทีว่าเกี่ยวกับศาสนาพุทธ สื่อให้คนต่างประเทศเข้าใจได้ชัดเจนที่สุด เราสร้างโมเดลหุ่นยนต์ขึ้นมา ขนาดย่อส่วนประมาณ 1 ฟุตครึ่ง ทดสอบสิ่งที่เราคิด เช่น แขนกล การควบคุม เราต้องพิสูจน์ทราบว่าทำงานได้ดีหรือไม่ ถ้ายังไม่ดีต้องพัฒนาต่อ แก้ไขจนดี แล้วมาขยายแบบเป็น 3 เมตร ทำอย่างไรบาตรพระจะแปลงมาเป็นหุ่นยนต์
…โครงการทำหุ่นยนต์ตักบาตรเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำที่สุด มันเป็นบรรยากาศการทำงานร่วมกันของนักศึกษาต่างวัยต่างสาขาวิชา เพื่อนจากคณะสถาปัตย์ก็ยังมาช่วยกันด้วย ปีกว่าที่ไม่ทิ้งกัน ลุยไปด้วยกันเต็มที่ พร้อมจะสู้กับอุปสรรค สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดคือได้เติมเต็มความรู้ ทดลองความรู้ที่เรามี มาประยุกต์ใช้ได้แค่ไหน ตามหลักพุทธศาสนาก็สอนให้เราเรียนรู้ธรรมด้วยการทำจริงด้วยตัวเอง …ส่วนในการทำงานร่วมกัน 40 คน วิธีการจัดการกับความคิดที่แตกต่างหลากหลาย เราใช้เหตุผลคุยกันครับ จะไม่ได้ขึ้นกับว่าใครใหญ่กว่า หรืออายุมากกว่า แต่เปิดใจยอมรับเหตุผลที่ดีกว่าด้วยความยินดีเพราะเป็นประโยชน์ต่อโครงการที่เราอาสามาทำร่วมกัน
…เสน่ห์ของหุ่นยนต์ อยู่ตรงที่เป็นเทคโนโลยีซึ่งรวมทุกศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งกลไก โครงสร้าง วงจรอิเลคทรอนิกส์ โปรแกรม คอมพิวเตอร์ สถาปัตยกรรม ครีเอทีฟ การบริหารจัดการ งานหุ่นยนต์สื่อถึงการทำงานเป็นทีม ทำไม่ได้ด้วยตัวคนเดียว หุ่นยนต์ไหนประสบความสำเร็จก็แสดงว่าทีมนั้นมีการทำงานประสานกันได้เยี่ยม
…วิศวลาดกระบังภูมิใจกับผลงานหุ่นยนต์ตักบาตรที่ออกมา เราไม่เพียงแต่สร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาเท่านั้น แต่เราได้สร้างคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมาที่สู้งานและพร้อมด้วยจิตอาสาที่จะทำอะไรดีๆให้สังคม ขณะที่เราสร้างหุ่นยนต์ และหุ่นยนต์ก็สร้างเราไปด้วยครับ
… การเรียนในห้องเรียนเป็นแค่จุดเริ่มต้นของชีวิต เมื่อจบแล้วยังต้องเรียนรู้สิ่งรอบตัวตลอดเวลา ผมคิดว่าการเรียนรู้ให้ดีเพื่อความสำเร็จมี 4 อย่างคือ 1.รู้จริง รู้ความเป็นจริง 2.รู้ให้ทัน รู้ทันสมัย ทันกับเวลาที่เปลี่ยนแปลง 3.รู้รอบ นอกจากสายอาชีพที่เราเรียนแล้ว เราต้องรู้อย่างอื่นๆด้วย เพื่อที่เราจะสามารถเข้าใจโลกเอามาใช้แก้ปัญหาได้ 4.รู้ใช้ เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์และในทางที่ดีด้วย ”
พงศกร จันทีนอก
หนุ่มน้อยวัย 21 ปี พงศกร จันทีนอก นักศึกษาปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เผยว่า “ผมเข้าร่วมทีมทำงานสร้างหุ่นยนต์ตักบาตรตั้งแต่แรกเริ่มโครงการ เมื่อต้นปี 2554 ตั้งแต่การเขียนแบบบาตรพระแล้วขยายแบบ ใช้วัสดุอะลูมิเนียมเป็นกลีบบัว 8 กลีบ เมื่อบาตรพระบานออก เนื่องจากเป็นวัสดุน้ำหนักเบา ในส่วนควบคุมได้ประยุกต์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มาใช้ควบคุมคอหุ่นยนต์ให้หันได้ ประกายไฟที่ดวงตาหุ่นยนต์ มือจับสิ่งของที่จะใส่บาตร รวมทั้งควบคุมการเปิดบาตรให้บานออกเป็นกลีบบัว เราใช้ระบบโทรศัพท์มือถือเชื่อมต่อผ่านบลูทูธไปยังหุ่นยนต์ชงโค งานเมื่อตอนเช้าควบคุมด้วยโทรศัพท์มือถือ สะดวกครับ
…ในดวงตาของหุ่นยนต์ สามารถบันทึกเก็บภาพเหตุการณ์ในงานได้ ผมและเพื่อนชื่อณัฐพงศ์ สังข์เจริญ ช่วยกันเขียนโปรแกรมเน็ตเวิร์ค ส่งภาพเสียงไปยังเซิร์ฟเวอร์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง เพื่อเผยแพร่ออกไปยังอินเตอร์เน็ตและเฟซบุ๊คแบบเรียลไทม์ โดยคนที่อยู่ไกลออกไปหรือในประเทศต่างๆสามารถชมพิธีตักบาตร 2555 รูปและหุ่นยนต์ตักบาตรครั้งแรกของโลก ได้จากลิงค์ในเว็บไซต์สถาบัน www.kmitl.ac.th/chongko
…ผมคิดว่าศาสนาพุทธประยุกต์มาใช้ได้ในชีวิตจริง ดังเช่น การทำดีก็จะได้ความดีเป็นผลตอบแทน เป็นเหตุเป็นผลเหมือนวิทยาศาสตร์ เมื่อทำปฏิกริยาอย่างหนึ่งก็จะได้ปฏิกริยาอย่างหนึ่ง คนทั่วไปมักคิดว่าเมื่อเทคโนโลยีสูงขึ้น จิตใจมนุษย์จะต่ำลง ผมคิดว่าเราควรส่งเสริมวิธีการใหม่ๆโดยเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเผยแพร่พุทธศาสนาให้น่าสนใจและง่ายขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ในโลกวันนี้ เช่น วัยรุ่นคนรุ่นใหม่นิยมใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เราก็สร้างหุ่นยนต์ตักบาตรมาดึงดูดความสนใจเขาและเผยแพร่การตักบาตรผ่านสื่อเหล่านี้อีกด้วย พุทธศาสนาสามารถไปกันได้ดีกับเทคโนโลยีวันนี้และอนาคตครับ”
ชนน รังสิกวานิช
หนุ่มน้อยนักศึกษาวัย 20 ปี ชนน รังสิกวานิช คณะวิศวกรรมศาสตร์ปีที่ 3 สจล.กล่าวถึงการสร้างหุ่นยนต์และมุมมองต่อพุทธศาสนาว่า
“ผมเห็นประกาศในเฟซบุ๊ค หาอาสาสมัครนักศึกษามาร่วมสร้างหุ่นยนต์เมื่อช่วงปิดเทอมซัมเมอร์ เมษายน 2554 ตอนแรกก็รู้สึกเฉยๆเพราะปกติที่คณะวิศวลาดกระบัง เรามีการสร้างหุ่นยนต์อยู่บ่อยๆ แต่เมื่อทราบว่าเป็นหุ่นยนต์ตักบาตรตัวแรกของโลกที่จะมาร่วมพิธีบุญตักบาตรกับพระสงฆ์ 2555 รูป จึงตัดสินใจสมัครร่วมทีมทันที
…เหนื่อยมากแต่ก็ภูมิใจมาก เป็นซัมเมอร์ที่คุ้มค่ามาก แทนที่เราจะอยู่บ้านนอนดูทีวีเฉยๆ กลับได้มาทำงานที่ท้าทาย ได้ใช้ความรู้ที่เรียนในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ได้รู้จักพี่ๆปริญญาตรี พี่ๆปริญญาโท และก็เพื่อนๆวิศวะจากสาขาต่างๆทั้งวิศวะไฟฟ้า, เครื่องกล, สารสนเทศ
…จุดที่ท้าทายมากในการสร้างหุ่นยนต์คือส่วนของแมคคานิกส์ วงจรไฟฟ้าและช่วงที่ทำการทดสอบ เราใส่วงจรอิเลคทรอนิกส์ลงไปตามแบบที่ออกไว้โดยบัดกรีชิ้นส่วนซึ่งมีขนาดเล็กมากๆ มี 2ส่วนคือ 1.บอร์ดไดร์ฟเพิ่มกำลัง สำหรับควบคุมมอเตอร์และ 2.บอร์ดคอนโทรล ควบคุมการจ่ายไฟซึ่งเราพัฒนาให้การเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์นิ่มนวลเหมือนมนุษย์
…ดีใจครับที่ได้เกิดมาถึงยุคที่พุทธศาสนามีอายุ 2600 ปี และเป็นวัยที่เรากำลังมีไฟในการทำงาน ผมคิดว่าพุทธศาสนาเป็นเหตุเป็นผล จะเห็นช้าหรือเร็วก็เป็นไปตามผลของกรรมการกระทำ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีชีวิตอิสระ ผมนำคำสอนพุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวัน เตือนใจตนเองว่าอะไรควรไม่ควรทำให้เรามีสติไม่ประมาทในการใช้ชีวิต ”
———————————-
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
ฝายประชาสัมพันธ์ : บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น ( BrainAsia Communication)
Tel. : 081-899-3599 , 086 -341-6567
Email : brainasiapr@hotmail.com