การปฎิรูปองค์กรตำรวจ…ควรทำอย่างมืออาชีพ

FLASH SALE
ฝากข่าว โดย :

image

ในฐานะอดีตข้าราชการตำรวจ ผมเห็นใจพี่น้องตำรวจในหลายๆ หน่วยงานจริงๆครับ ผมเชื่อว่าปลาน้ำดีนั้นมีเยอะและตำรวจจำนวนมากทำงานเพื่อประชาชนด้วยความบริสุทธิ์และจริงใจ…

 1.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ตำรวจป่าไม้)ไปสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ผมขอพูดถึงหน่วยงานนี้ก่อน เพราะคุ้นเคยกับการทำงานของกองนี้ค่อนข้างมาก ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีชื่อติดอยู่ในข่ายประเทศ Primary Concern หรือกลุ่มประเทศที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องการค้างาช้างที่ผิดกฎหมายจากทางไซเตส หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) หากให้กระทรวงทรัพย์ฯ เป็นผู้รับผิดชอบด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมเพียงหน่วยงานเดียว  ประเทศเราคงลำบากแน่  เพราะอาชญากรรมประเภทนี้ต้องการเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานที่เข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและที่สำคัญต้องสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง ทันต่อเวลา  เนื่องจากคดีด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนและหลายประเทศ จึงจำเป็นที่ต้องให้ตำรวจเป็นหน่วยงานหลักด้านการต่อสู้ ปราบปรามกับอาชญากรรมองค์กรเหล่านี้  ตลอดจนเป็นหน่วยประสานงานกับองค์การตำรวจสากล (Interpol), องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization), สำนักงานส่งเสริมการบังคัญใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพืชป่า (LEEO-WEN) และองค์การระหว่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน

2.สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตำรวจตม.) ไปสังกัดกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงยุติธรรม  

ในปัจจุบันตำรวจจะวางเจ้าหน้าที่เพื่อสืบสวนในสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นท่าอากาศยานภายในประเทศ (Domestic Airport) หรือ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (International Airport)  และยังคงต้องมีหน่วยตำรวจประจำอยู่ ในการตรวจตราผู้เดินทางเข้าเมือง-ออกเมือง เพื่อปฎิบัติการได้ทันท่วงทีในเรื่องคดีอาญาต่างๆ เช่น คดีพระราชบัญญัติ (พรบ.) คนเข้าเมือง คดีคนร้ายข้ามชาติ คนร้ายหลบหนี  คดีอาญาทั้งขาเข้า-ขาออกประเทศ  รวมทั้งตรวจตราเจ้าหน้าที่ในสนามบินที่ร่วมช่วยคนร้ายหรือผู้ทำผิดต่างๆ เช่น การจี้เครื่องบิน การวางระเบิด และปฏิบัติภารกิจอื่นอีกมากมาย จึงจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณชาติ หากจะต้องมีข้าราชการจากหลากหลายหน่วยงานทำงานทับซ้อนกัน ก่อให้เกิดความยุ่งยาก ซ้ำซ้อน หรือความล่าช้าในการประสานงาน  อีกทั้งยังต้องแก้กฎหมายกระทรวง ทบวง กรมอีกหลายฉบับ หากอยากแก้ปัญหาคอรัปชั่น ไม่เห็นต้องปฏิรูปให้เสียเวลา แค่ลดเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ จัดเงินค่าล่วงเวลา เงินค่าเพิ่มงานให้เหมาะสม (เงินที่ได้จากรายหัวคนเข้า-ออกเมือง และให้ตำรวจที่เข้าเวรกันตลอด 24 ชั่วโมง ตามความเหมาะสม) ก็เพียงพอแล้ว

3.กองบังคับการตำรวจทางหลวง (ตำรวจทางหลวง) ไปสังกัดกรมทางหลวง อันนี้เห็นด้วย (บางส่วน)

เพราะทุกวันนี้ ตำรวจทางหลวงมีเวลาน้อยมากที่จะมาดูแลงานอาชญากรรมและงานที่ผิดกฎหมายอื่น เช่น งานปราบปรามผู้กระทำผิดตามพรบ.ศุลกากร พรบ.สรรพสามิต พรบ.ยาเสพติด เพราะต้องมีงานถวายอารักขานายกรัฐมนตรี ทูตานุทูต ผู้พิพากษาระดับสูง และอีกมากมาย ก็คงต้องมีตำรวจไว้อีกหน่วยที่ทำหน้าที่ตรวจตรา ป้องปรามการกระทำผิดทางอาญาในถนนหลวงทั่วประเทศเช่นเดิม เปลืองคน เปลืองรถ เปลืองเครื่องบินกรณีงานเทศกาลวันหยุดยาว

4.กองบังคับการตำรวจน้ำ (ตำรวจน้ำ) ไปไว้กระทรวงคมนาคม อันนี้ตลกสุดๆ

ตำรวจน้ำนั้นเขาผูกติดกับกองทัพเรือมานานแล้ว น้ำมันเรือมันแพง เติมทีเป็นแสนบาท น้ำมันหมดในทะเล ทหารเรือช่วยเอาน้ำมันไปเติมให้ในทะเลเลย งานมันหนุนเนื่องกันทั้งในด้านคนร้ายทำผิดในน่านน้ำไทย    ต่อการรุกล้ำเขตแดน ลักลอบมาทำประมง ลักลอบขนคน ขนของลบเลี่ยงกฎหมาย ทำลายทรัพยากรในทะเลฝั่งไทย ฝั่งอันดามัน ตำรวจได้งบประมาณเมื่อไร จะต้องไปฝาก รร.นายเรือ ผลิตตำรวจน้ำให้ทุกทีไป ส่วนกระทรวงคมนาคมจะไปรับผิดชอบคดีอาญาอะไรในทะเล  มีเรือไม่ต่อใบขับขี่หรือบรรทุกน้ำเกินหรือ      กลัวตำรวจมีกำลังมากกว่าทหาร เป็นที่หนักใจในการยึดอำนาจหรือ จำชำแหระ สักแต่ว่าให้มันอ่อนแอลง ไม่ต้องกลัวหรอก ตำรวจน่ะปัจเจกสูง ปกครองง่าย

และยังมีตำรวจอีกหลายหน่วยที่จะต้องย้ายไปสังกัดกระทรวงต่างๆ เช่น กองบังคับการตำรวจจราจร (ตำรวจจราจร) ไปสังกัดกรุงเทพมหานคร, กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจคอมพิวเตอร์)ไปสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กองบังคับการตำรวจรถไฟ (ตำรวจรถไฟ) ไปสังกัดการรถไฟแห่งประเทศไทย, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ตำรวจเศรษกิจ) ไปสังกัดกระทรวงการคลัง กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค) ไปสังกัดกระทรวงสาธารณสุข  และกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว (ตำรวจท่องเที่ยว) ไปสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

หน่วยงานตำรวจเหล่านี้จะเอาไปขึ้นกับกระทรวงต่างๆ  ผมในฐานะที่เคยรับราชการตำรวจและนักวิชาการด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมลักษณะพิเศษ หน่วยงานสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเกือบทั้งหมดถูกย้าย เหลือแต่กองปราบปราม ต่อไปก็คงถูกยุบหรือย้ายกระทรวงแน่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางแปลว่า Central Investigation Bureau ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์นั้น เขามีตำรวจหน่วยนี้เกือบทุกประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาคือ (Federal Bureau of Investigation: FBI) คนส่วนใหญ่รู้จักดี อังกฤษคือ นิวสก็อตแลนด์ยาร์ด (Security Service: MI5) ฝรั่งเศสคือ Direction Centrale De La Police Judiciaire: Central Directorate of the Judicial Police) ออสเตรเลียคือ Australian Secret Intelligence Service: ASIS)

อาชญากรรมลักษณะพิเศษ หมายถึง อาชญากรรมซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากอาชญากรรมพื้นฐานกล่าวคือเป็นอาชญากรรมที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องได้รับความสนใจเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจาก อาชญากรรมเหล่านี้ นอกจากจะมีความละเอียดและสลับซับซ้อน ยากแก่การศึกษาและการควบคุมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศอย่างร้ายแรง เช่น อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (White Collar Crime), องค์กรอาชญากรรม(Organized Crime),  อาชญากรรม ข้ามชาติ(Transnational Crime) เนต้น  ซึ่งการควบคุมอาชญากรรมพิเศษเหล่านี้กระบวนการยุติธรรมปกติ มักไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมาตรการทางกฎหมายเป็นพิเศษ ตลอดจนความร่วมมือและการประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกประเทศหรือระหว่างประเทศ

ในส่วนของประเทศที่พัฒนาแล้วได้ตั้งหน่วยงานเหล่านี้เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเฉพาะทาง อาทิ คนร้ายฆ่าต่อเนื่อง ปล้นต่อเนื่อง โกงต่อเนื่อง ในหลายพื้นที่ ข้ามจังหวัด   ข้ามภาค ข้ามประเทศ คนร้ายที่ชำนาญทางน้ำ เช่น พวกโจรสลัด อาชญากรรมกรที่ตัดไม้ทำลายป่า อาจมีข้าราชการระดับสูงหรือผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง เช่น การค้าสิ่งของที่ผิดกฎหมาย อาชญากรรมประเภทนี้ปราบยาก ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะทางของเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ ซื่อสัตย์ มาสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดี หากคนที่ไม่เข้าใจจะมาปฏิรูปองค์กรตำรวจ อาจเกิดเสียหายต่อบ้านเมืองเป็นอย่างมาก

 

ด้วยความรักในองค์กรตำรวจและห่วงใยต่อความปลอดภัยของประชาชน

 ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์

อดีตข้าราชการตำรวจ/นักวิชาการด้านอาชญากรรมลักษณะพิเศษ