กรมพัฒนาที่ดิน เพิ่มศักยภาพเกษตรไทยรับ AEC

FLASH PRESS
ฝากข่าว โดย :

การปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพดินให้มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกทางด้านเกษตรกรรม กำลังเป็นกระแสที่ภาครัฐและเกษตรกรหันมาให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อภาคการเกษตรไทย กำลังก้าวสู่โลกแห่งเกษตรยุคใหม่ ที่จะต้องเร่งเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตให้ทัดเทียมกับคู่แข่งในภูมิภาค ที่กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นประชาคมอาเซียนหรือ AEC และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของ”การทำเกษตรแห่งอนาคต”

           

นายเกรียงศักดิ์  หงษ์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า   ดินในประเทศไทยที่ใช้ทำการเพาะปลูกทั่วไป  มักจะขาดความอุดมสมบูรณ์ มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ โครงสร้างและคุณภาพของดินไม่ดี      แน่นทึบ ไม่อุ้มน้ำ มีอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์ในดินน้อย เนื่องมาจากการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง โดยขาดการปรับปรุงและบำรุงรักษาดิน ตลอดจนการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดประเภท และดินปัญหาต่าง ๆ เช่น ดินทราย ดินลูกรัง ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินด่าง  จึงมีความจำเป็นต้องทำการปรับปรุง     และหาทางแก้ไข เพื่อให้กลับมาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ    

            ดังนั้น จึงได้ให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่ง และหมอดินอาสาทุกหมู่บ้าน ทำการประชาสัมพันธ์แนะนำเกษตรกรให้ใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ ด้วยวิชาการพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นพื้นฐานการเกษตรที่มั่นคง                ให้มีต้นทุนต่ำ โดย การปรับปรุงโครงสร้างดินด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นปุ๋ยพืชสดชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า การปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ รักษาความชุ่มชื้นในดิน การใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพสารเร่ง พด.ชนิดต่าง ๆ ในการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ รวมทั้งการผลิตสาร    ขับไล่แมลง เพื่อทำให้สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีโครงสร้างที่ดี เพราะการเติมปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ลงไป          ในดินเหมือนกับเอาเงินฝากธนาคารไว้ให้ลูกหลาน ทำดินให้เป็นบ้านที่อยู่อาศัยของเชื้อจุลินทรีย์ เมื่อดินดี                 ก็เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกพืช ทำให้ได้ผลผลิตที่ดี มีทั้งปริมาณและคุณภาพที่ดี เพราะในดินที่สมบูรณ์มีอินทรียวัตถุมาก จะทำการเกษตรอินทรีย์ หรือทำการเกษตรร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ก็จะใช้ปริมาณที่น้อยมาก  ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำ

 

การใช้วิธีธรรมชาตินั้น จะต้องคำนึงถึงความสมดุลทางเคมี ชีวะ และกายภาพเป็นหลัก  ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยวิธีการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ระบบพืช  ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชต่างชนิดแบบผสมผสาน  การปลูกพืชหมุนเวียน  การปลูกพืชสดเป็นปุ๋ยปรับปรุงบำรุงดิน  การปลูกพืชคลุมดิน  เพื่อเป็นการฟื้นฟูดินให้มีความสมบูรณ์ได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น เพื่อให้ดินมีคุณภาพและสามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการเขตกรรมและระบบการจัดการเกษตรที่เหมาะสม  ทำให้เกิดผลผลิตที่ดีมีปริมาณมาก และสามารถรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต ให้เป็นสินค้าส่งออกสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย เพราะการทำเกษตรยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก  ทั้งในส่วนของผู้ผลิตและผู้บริโภค ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอีกด้วย

 

ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาและพัฒนาที่ดินนั้น ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาคและเกษตรกร ต้องร่วมมือกันและมีการผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ร่วมกับการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรที่จะเป็นทางออกสำคัญสำหรับการพัฒนาปรับปรุงและพัฒนาดินทั่วประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมศักยภาพทางการเกษตรของไทย และเป็นการส่งเสริมเพิ่มขีดความสามารถในด้านการตลาดของสินค้าเกษตรไทยต่อไป สำหรับท่านที่สนใจการปรับปรุงบำรุงดิน ด้วยวิถีธรรมชาติ ติดต่อสอบถามได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือหมอดินอาสาใกล้บ้าน” อธิบดี กรมพัฒนาที่ดินกล่าว