กรมป่าไม้ คว้ารางวัลประกวดโปสเตอร์งานประชุมสักนานาชาติ

FLASH PRESS
ฝากข่าว โดย :

กรมป่าไม้ คว้ารางวัลประกวดโปสเตอร์งานประชุมสักนานาชาติ

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีประชุมสักนานาชาติ ( World Teak Conference 2013 ) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 มีนาคม 2556 ณ โรงแรมเซนทาราแกรนด์ เซนทรัลเวิรด์ กรุงเทพ ซึ่งในการประชุมมีการประกวดโปสเตอร์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับไม้สัก มีผู้ส่งโปสเตอร์ผลงานวิจัยจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 52 เรื่อง  คณะกรรมการได้ตัดสินให้โปสเตอร์ผลงานวิจัยของนางสุวรรณา อ่ำเผือก นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สังกัดกลุ่มงานพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ เรื่อง Evaluation of 15 years Old Teak Heartwood Extractives against Termites Attack  ซึ่งเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากแก่นไม้สักอายุ 15 ปี ในการป้องกันรักษาเนื้อไม้จากการเข้าทำลายของปลวก ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยนางสุวรรณา อ่ำเผือก เจ้าของผลงานวิจัยขึ้นรับรางวัลจาก ประธานเครือข่ายสักนานาชาติ (TEAKNET)   Mr.  Lars  Gradual ในพิธีปิดการประชุมสักนานาชาติ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2556

ด้านนางสุวรรณา อ่ำเผือก นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมป่าไม้  เผยว่า การจัดประชุมไม้สักนานาชาตินั้น เป็นการประชุมที่ยิ่งใหญ่ หลายประเทศให้ความสำคัญและส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมมาโดยตลอด  โดยเฉพาะปีนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ  และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นองค์ประธานในการจัดงาน  ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง  หากผลงานวิจัยด้านไม้สักของกรมป่าไม้ ที่ศึกษาวิจัยอยู่ได้มีโอกาสแสดงหรือตีพิมพ์เผยแพร่ ในการประชุมที่เป็นสากลนานาชาติเช่นนี้   สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ตั้งใจจัดทำผลงานวิจัยชุดนี้ ขึ้นมา

ส่วนข้อมูลผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ได้ลงเผยแพร่ใน website ของสำนักวิจัยและพัฒนาการ   ป่าไม้ กรมป่าไม้หวังว่าข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์บ้างในมิติหนึ่งของการวิจัยเกี่ยวกับไม้สักของประเทศไทย  หรืออาจมีส่วนช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้แก่นักวิจัย เพื่อทำการศึกษาวิจัยต่อยอดเกี่ยวกับไม้สักในด้านต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ กรมป่าไม้ ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไม้สักอย่างต่อเนื่อง โดยในขณะนี้กรมป่าไม้ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์ไม้สักที่ได้พันธุ์ดี จำนวน 10 สายพันธุ์ใหม่ ใช้รหัสว่า ปม 1-1 ถึง ปม 1-10 และอยู่ระหว่างการขอยื่นจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่กับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเตรียมเพาะกล้าไม้เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนต่อไป  นายบุญชอบเผย.